วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รีไฟแนนซ์คืออะไร (Refinancing)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หลังจากที่นำเสนอบทความการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ด้วยสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรกดเงินสดไปแล้ว ซึ่งนอกจากการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้านก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งท่านผู้อ่านคงได้เห็นความหมายของการรีไฟแนนซ์ไปแล้วบ้าง ในบทความนี้จะขออธิบายความหมายของการรีไฟแนนซ์อีกครั้งครับว่า การรีไฟแนนซ์คืออะไร การรีไฟแนนซ์คือการกู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อมาชำระคืนหนี้ก้อนเดิม โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้กู้ต้องทำการรีไฟแนนซ์ อาจจะมาจากอัตราดอกเบี้ยในแหล่งกู้เงินอื่นๆลดลง ต้องการปรับระยะเวลาชำระหนี้ให้เหมาะสมกับผู้กู้ หรืออาจจะต้องการรีไฟแนนซ์เนื่องจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่นำไปใช้เป็นหลักประกันมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งทำให้การรีไฟแนนซ์มีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงขึ้น

สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในการรีไฟแนนซ์คือ การรีไฟแนนซ์จะทำให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆเพิ่มขึ้นได้ เช่นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนจำนองกับกรมที่ดินกรณีเป็นที่ดิน ค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจรีไฟแนนซ์บุคคลต้องทำเปรียบเทียบว่าค่างวดผ่อนชำระรายเดือนที่ลดลง จากการรีไฟแนนซ์นั้นจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายสำหรับการรีไฟแนนซ์หรือไม่

วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตด้วยบัตรกดเงินสด (Credit card)

วันนี้จะขอนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตอีกวิธีหนึ่ง จากบทความที่ผ่านมาผมได้นำเสนอการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเข้ามาช่วยรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต ซึ่งมีความเสี่ยงอยู่ตรงที่ สินเชื่อบุคคลจะต้องผ่านการอนุมัติจากแหล่งให้สินเชื่อ ซึ่งความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับการอนุมัติก็ยังมีอยู่ วันนี้เรามาดูเทคนิคการใช้บัตรกดเงินสดมาช่วยในการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตกันครับ ขอย้ำว่าหนี้บัตรเครดิตที่จะชำระต้องไม่มากเกินไป และบล๊อกผมไม่ได้ส่งเสริมให้ท่านผู้อ่านใช้จ่ายเกินรายได้นะครับ มาดูกันเลยครับ วิธีการนี้จะเหมาะกับพนักงานรายเดือนที่ผมเชื่อว่าจะถูกแหล่งให้สินเชื่อเชิญชวนสมัครบัตรกดเงินสดอยู่แล้ว ผมแนะนำให้มีเก็บไว้ซักใบหนึ่ง การรีไฟแนนซ์จากบัตรกดเงินสดสามารถทำได้โดยง่ายเนื่องจากเราสามารถกดเงินสดจากตู้ ATM มาชำระหนี้บัตรเครดิตได้ทันที เหตุที่แนะนำการใช้บัตรกดเงินสดช่วยรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตมีดังนี้

1. ไม่ต้องรอการอนุมัติเหมือนสินเชื่อส่วนบุคคล

2. ยอดชำระขั้นต่ำน้อยกว่าหนี้บัตรเครดิต

3. เราสามารถวางแผนการชำระหนี้บัตรกดเงินสดเป็นแบบระยะยาวได้

ในขณะที่ข้อเสียหรือจุดเสี่ยงที่ท่านผู้อ่านพึงตระหนักของวิธีการนี้คือ

1. ดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดเท่ากับดอกเบี้ยบัตรเครดิต

2. มียอดขั้นต่ำที่ต้องชำระ ซึ่งจะต้องศึกษาถึงความสามารถในการจ่ายขั้นต่ำจากรายได้ของท่านผู้อ่านด้วยครับมิเช่นนั้นจะถูกคิดค่าปรับด้วยครับ

จากที่ผมได้ชี้แจ้งข้อดีข้อเสียของการใช้บัตรกดเงินสดช่วยรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต มีกฏเหล็กที่ผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตต้องปฏิบัติคือ ระหว่างช่วงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตห้ามก่อหนี้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นอีกครับ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาแบบงูกินหางซึ่งจะทำให้ท่านไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นหนี้บัตรเครดิตลงได้ ครับ สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตด้วยสินเชื่อบุคคล (Personal loan)

การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้สินของคนยุคใช้บัตรเครดิตแทนเงินสด โดยปกติแล้ว หลักการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตให้ได้ประโยชน์ซึ่งได้เคยกล่าวมาแล้วใน blog นี้ แต่จะขอกล่าวอีกครั้ง ว่าสิ่งสำคัญคือท่านต้องชำระคืน 100% ในระยะเวลาที่กำหนดของบัตรเครดิตแต่ละใบครับ ซึ่งจะทำให้ท่านผู้อ่านไม่ต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิตซึ่งมีอัตราค่อนข้างสูงประมาณ 28% ต่อปีซึ่งการคำนวณดอกเบี้ยก็สามารถทำได้ง่ายโดยใช้สูตร excel ในปัจจุบันหลายท่านประสบปัญหาในการจ่ายชำระบัตรเครดิตในเงื่อนไขดังกล่าว และเริ่มมีการจ่ายไม่เต็มวงเงินที่ใช้ ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ในงวดถัดมาเราต้องเสียดอกเบี้ยให้กับเจ้าของบัตรเครดิตนั้นครับ และที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือเมื่อเริ่มติดค้างเงินต้นและดอกเบี้ยบัตรเครดิตมากขึ้นหลายท่านเริ่มจ่ายในอัตราขั้นต่ำ 10% ซึ่งตรงนี้ทำให้เกินอาการดอกทบต้น ต้นทบดอกมากขึ้นเรื่อยๆ จะสังเกตุว่าปัจจัยที่เราต้องพบกับปัญหานี้ก็คือระยะเวลาในการชำระหนี้สั้นเกินไปและยอดขั้นต่ำที่ต้องชำระ แต่ก็เป็นไปตามกฎของบัตรเครดิตอยู่แล้ว ดังนั้นการแก้ปัญหาเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้บัตรเครดิตก็คือการกู้เงินจากสินเชื่อบุคคลมาชำระหนี้บัตรเครดิตที่ค้างไว้ และเราจะมีภาระกับสินเชื่อบุคคลต่อไปซึ่งการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไปเป็นระยะยาวได้ ซึ่งวิธีการนี้จะเรียกว่า การรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต โดยอาศัยช่องทางของสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเปิดช่องให้ท่านกู้เงินได้ในระยะยาว 5 – 6 ปี ได้ ซึ่งจะทำให้ท่านลดภาระในการผ่อนชำระลงได้ แต่ข้อสำคัญนะครับ อย่าปล่อยให้ปัญหาการผ่อนชำระบัตรเครดิตของท่านยืดเยื้อจนท่านติดเครดิตบูโร ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ท่านจะขอสินเชื่อบุคคลผ่านนั้นทำได้ยากมากขึ้น การเลือกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อส่วนบุคคลนั้นมีหลักการพิจารณาดังนี้

1. อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงินกู้ที่ท่านต้องการและอาจจะมีอัตราที่ต่ำกว่าบัตรเครดิต

2. ระยะเวลาของสินเชื่อ ผมได้นำเสนอวิธีการสร้างตารางการผ่อนชำระสินเชื่อ ซึ่งเราควรจะเลือกระยะเวลาที่เราสามารถผ่อนชำระต่อเดือนได้อย่างพอเพียง และไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตอื่นๆ

3. จำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนต้องสมดุลกับรายรับรายจ่ายแต่ละเดือน แนะนำว่าควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้ครับ

ครับบทความนี้ผมตั้งใจจะนำเสนอวิธีการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตด้วยการขอสินเชื่อเพราะมีข้อดีอย่างหนึ่งคือ อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าบัตรเครดิต แต่ก็ยังมีความเสี่ยงตรงที่อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็เป็นได้ครับ โดยสถาบันการเงินจะตรวจสอบประวัติของท่านก่อนการอนุมัติสินเชื่ออยู่แล้ว ดังนั้นวิธีการนี้จะเหมาะสำหรับกรณีที่สถานะการเงินของท่านยังไม่วิกฤตมากนักครับ และอีกอย่างหนึ่งท่านผู้อ่านอย่าไปคำนวณดอกเบี้ยทั้งหมดที่เราต้องจ่ายให้กับแหล่งให้สินเชื่อนะครับ เสียเวลาปล่าวๆ เราต้องทำใจกับดอกเบี้ยก้อนนี้ และสุดท้ายที่สำคัญอย่าสร้างหนี้ก้อนใหม่จากบัตรเครดิตขึ้นมาอีกจนไม่สมดุลกับรายรับรายจ่ายนะครับ

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตารางช่วยคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้เพื่อการบริโภค (Consumer loans Table)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ช่วงนี้หลายท่านประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับการฟื้นฟูชีวิตและทรัพย์สิน การขอสินเชื่อเพื่อการบริโภคเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับท่านที่มีเงินเก็บหรือเงินสำรองไม่พอ หรืออาจจะไม่มีทรัพย์สิน ทั้งนี้การเลือกแหล่งให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละท่านก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาคือ เงินต้นที่ต้องการ ระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ บทความนี้เราจะนำเสนอการใช้ excel สร้างตารางเพื่อช่วยคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้ ซึ่งจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถประมาณการได้เมื่อต้องไปติดต่อขอสินเชื่อเงินกู้กับแหล่งให้สินเชื่อ ก่อนอื่นมาดูองค์ประกอบของตารางช่วยคำนวณสินเชื่อก่อนครับ โดยเราจะคิดยอดการผ่อนชำระสินเชื่อหรือเงินกู้ที่เงินต้น 1,000 บาท โดยกำหนดให้แถวที่สองในแนวนอนของตารางเป็นจำนวนเดือนในการผ่อนชำระเงินกู้หรือสินเชื่อ หลักแรกของตารางเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อต่อปี ครับ ดังแสดงในภาพที่ 1

ตารางคำนวณเงินกู้

ภาพที่ 1 รูปแบบตารางคำนวณเงินกู้หรือสินเชื่อ

การใช้สูตร excel ช่วยคำนวณ เราจะใช้สูตร excel : PMT และ ABS ช่วยคำนวณครับ โดย PMT เป็นสูตรช่วยคำนวณหายอดการผ่อนชำระเงินกู้ ABS ช่วยแปลงผลลัพธ์การคำนวณจากสูตร PMT ให้มีค่าเป็นบวก ดังนั้นที่ CELL B3 เราจะคำนวณยอดการผ่อนชำระเงินกู้ได้โดยการเขียนสูตร excel ดังนี้

= ABS(PMT($A3/12,B$2,1000,0,0))

เราสามารถ drag สูตร excel ดังกล่าวครอบคลุมทั้งตารางจะได้ตารางช่วยคำนวณเงินกู้หรือสินเชื่อดังแสดงในภาพที่ 2

ตารางคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้

ภาพที่ 2 ตารางช่วยคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้ (เงินต้น 1,000 บาท)

จากภาพที่ 2 หากท่านต้องการเงินกู้ 20,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ย 28% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 24 เดือน ท่านจะต้องผ่อนชำระกับแหล่งสินเชื่อเงินกู้เท่ากับ (20,000/1,000)x54.89 = 1,097.77 บาทต่อเดือน

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าหากสร้างตารางคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้แล้วทำการพิมพ์ใส่กระดาษเก็บไว้ ท่านผู้อ่านก็จะสามารถคำนวณหายอดผ่อนชำระเงินกู้หรือสินเชื่อได้ทันทีทุกที่ เพราะจากตัวอย่างการคำนวณสินเชื่อท่านผู้อ่านจะเห็นว่าเราเพียงใช้โทรศัพท์มือถือธรรมดาๆก็สามารถคำนวณสินเชื่อให้ท่านผู้อ่านได้แล้วครับ อย่าลืมหลักการขอสินเชื่อของท่านให้ดีนะครับ ยอดผ่อนชำระเงินกู้จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เรามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ครับ สวัสดีครับ

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รูปแบบของการประกันชีวิตที่ควรทราบ (insurance format)

ในบทความนี้จะขอนำเสนอรูปแบบของการประกันชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านเวลามีผู้มานำเสนอขายประกัน หลังจากที่นำเสนอแนวคิดการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินไปแล้ว ในบทความนี้จะขอนำเสนอลักษณะการให้ความคุ้มครองรวมถึงเบี้ยประกันภัยของการประกันชีวิตแบบต่างๆ เพื่อช่วยพิจารณาเลือกรูปแบบการประกันชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของท่านผู้อ่านเอง โดยขอแบ่งรูปแบบการประกันชีวิตไว้เป็น 4 รูปแบบดังนี้

1. การประกันแบบรายได้ประจำ (Annuity insurance) เป็นการประกันที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เอาประกันเป็นงวดๆเมื่อผู้ทำประกันออกจากงานหรือเกษียณอายุหรือเมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบกำหนดตามสัญญา การประกันชีวิตแบบรายได้ประจำเหมาะสำหรับ

  1. บุคคลที่ประกอบอาชีพที่สามารถหารายได้ได้มากตอนอายุน้อย เช่นนักกีฬา
  2. บุคคลที่ทำงานในหน่วยงานที่ไม่มีกองทุนสำหรับการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ
  3. บุคคลที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเอง

2. การประกันแบบตลอดชีพ (Whole life insurance) เป็นการประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รับผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือจะจ่ายเงินชดเชยให้เมื่อผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนอายุครบ 99 ปี การประกันชีวิตแบบนี้จะมีวิธีการจ่ายเบี้ยประกัน 3 วิธี คือ

  1. จ่ายครั้งเดียว
  2. จ่ายเป็นงวดๆไปตลอดชีวิต
  3. จ่ายเป็นงวดๆในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นจ่ายเป็นงวดๆเป็นเวลา 10 ปี 20 ปี หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันแต่ผู้เอาประกันยังได้รับความคุ้มครอง

การประกันชีวิตแบบตลอดชีพเหมาะสำหรับ

  1. ผู้มีรายได้ปานกลางถึงมาก
  2. ต้องการความคุ้มครองในระยะยาว
  3. ต้องการความคุ้มครองในวงเงินค่อนข้างสูง
  4. ต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว

3. การประกันแบบชั่วระยะเวลา คือการประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รับผลประโยชน์ ในกรณีทีผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั่น กล่าวคือหากผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาผู้เอาประกันจะไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด การประกันชีวิตแบบนี้เบี้ยประกันค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับ

  1. บุคคลมีรายได้น้อย
  2. บุคคลที่ต้องการความคุ้มครองในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือนักท่องเที่ยวที่มักเดินทางไปตามที่ต่างๆ
  3. บุคคลที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว

4. การประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รับผลประโยชน์ในกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือจะจ่ายเงินให้กับผู้เอาประกันในกรณีที่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบกำหนด โดยผู้เอาประกันจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันภัยภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 10 ปี 25 ปี โดยการประกันชีวิตแบบนี้ถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง โดยเหมาะสำหรับ

  1. บุคคลมีรายได้ปานกลางถึงมาก
  2. ต้องการความคุ้มครองในระยะยาว
  3. ต้องการสะสมเงินไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ

จะเห็นว่ารูปแบบของการประกันชีวิตมีให้เลือกหลายรูปแบบให้ผู้เอาประกันเลือกในการจัดการความเสี่ยง ในบทความต่อไปจะขอนำเสนอประโยชน์ในทางตรงและทางอ้อมของการทำประกันชีวิตให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบต่อไปครับ สวัสดีครับ

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การจัดการความเสี่ยง ด้วยการประกันภัย(insurance)

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่า ภาวะน้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เรามาดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเรากันครับ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก็เช่น ความพิการ ความตาย การสูญเสียทรัพย์สินและรายได้ เป็นต้น ไม่มีใครจะทราบได้ว่าเราจะประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตเมื่อใด จะตกงานหรือจะโดนไล่ออกตอนไหน (ขณะนี้มีบางบริษัทก็จ่ายเงินช่วงหยุดงานลดลง หรือไม่จ่ายเลยก็เป็นได้ตามกฎหมาย) โดยทั่วไปวิธีในการจัดการความเสี่ยง 4 วิธี ได้แก่

  1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หมายถึง การหลีกเลี่ยงไม่ทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดเสี่ยง เช่น หากว่ายน้ำไม่เป็นก็ควรจะอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมเป็นต้น วิธีการจัดการดังกล่าวเป็นวิธีจัดการที่ง่ายแต่มีข้อจำกัด เนื่องจากทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะความตาย
  2. การลดความเสี่ยง เป็นการลดความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงนั้นลง เช่นหากกังวลเรื่องการเจ็บป่วยเราก็ควรจะทำการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ
  3. การยอมรับความเสี่ยง คือการที่เรายอมรับความเสี่ยงไว้เอง เห็นได้ชัดเช่น ความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมที่เราประสบ คนส่วนใหญ่คิดว่าน้ำท่วมมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก จึงยอมรับความเสี่ยงไว้เอง
  4. การโอนความเสี่ยง คือการโอนความเสี่ยงไปให้กับคนอื่น โดยการโอนความเสี่ยงสามารถโอนให้กับบุคคลได้ 2 กลุ่ม เช่น บริษัทประกันภัย หรือบุคคลอื่นที่มิใช่บริษัทประกันภัย อย่างไรก็ดีการโอนความเสี่ยงให้กับบุคคลอื่นก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นบริษัทประกันภัย จะเรียกว่า เบี้ยประกันภัย แต่หากเป็นกล่มที่มิใช่บริษัทประกันภัยจะเรียกว่า คู่สัญญาในการทำสัญญา โดยทั่วไปแล้ว บุคคลทั่วไปนิยมโอนความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันภัย

ครับจากที่ได้กล่าวมาแล้วท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการโอนความเสี่ยงให้กับบุคคลอื่น ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นบริษัทประกันภัย การประกันภัยมีหลายรูปแบบ เช่นการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ ซึ่งเราทุกคนมีความจำเป็นต้องจัดการความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับเรา เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความจำเป็นของการประกันภัยครับ เพราะเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเยอะมากเหลือเกิน

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แนวคิดการทำไซฟ่อนระบายน้ำท่วม (Syphon or Siphon)

สวัสดีครับ ช่วงนี้ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและเมืองหลวง มีการนำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการน้ำหลากหลาย รวมถึงการป้องกันน้ำเข้าพื้นที่โดยการทำพนังกั้นน้ำ โดยล่าสุดที่มีการกล่าวถึงกันมากคือการระบายน้ำที่ท่วมขังลงไปยังแม่น้ำบางปะกง โดยการทำไซฟ่อนหรือกาลักน้ำ บทความนี้จึงขอนำเสนอปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการทำไซฟ่อน และสามารถตอบโจทย์ของแนวคิดการทำไซฟ่อนช่วยระบายน้ำท่วมได้มากน้อยเพียงใด

ไซฟ่อนหรือกาลักน้ำ หมายถึง สิ่งปลูกสร้างทางน้ำไหล สร้างเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง อาจมีการสร้างเพื่อลอดสิ่งกีดขว้าง สร้างข้ามสิ่งกีดขวางไป เพื่อให้น้ำเดินสะดวก ดังนั้นประสิทธิภาพการทำไซฟ่อนจะวัดกันที่อัตราการไหลของน้ำผ่านไซฟ่อนครับ โดยอัตราการไหลของน้ำผ่านไซฟ่อนสามารถคำนวณได้จากสมการ

Q = AV

ดังนั้นหากต้องการอัตราการไหลสูงจะต้องเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของทางน้ำไหลและความเร็วของน้ำผ่านไซฟ่อน โดยพื้นที่หน้าตัดของทางน้ำไหลเราสามารถควบคุมได้จากท่อส่งน้ำที่สร้างขึ้น การเจาะถนนเพื่อให้น้ำไหล หรือการเจาะอุโมงค์ลอดถนนเพื่อเป็นทางน้ำไหล หรือการติดตั้งท่อข้ามพนังกันน้ำ ก็เป็นแนวคิดของการทำไซฟ่อนเช่นกัน เพื่อเพิ่มการระบายน้ำลงทะเลให้มากขึ้น โดยการทำไซฟ่อนขึ้นเองทำให้เราสามารถควบคุมอัตราการไหลของน้ำที่จะระบายออกไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อท่วมด้านท้ายน้ำที่ระบายออกมากเกินไปครับ

ความเร็วของน้ำที่ไหลผ่านไซฟ่อนจะขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำบริเวณด้านหน้าพนังกั้นน้ำ โดยวัดจากระดับน้ำถึงระดับที่ติดตั้งไซฟ่อน (z)โดยมีค่าประมาณ (กรณีไหลแบบคงตัว (Steady state))

V = (2*9.81*z)^0.5.

ดังนั้นปริมาณการไหลของน้ำผ่านไซฟ่อนเท่ากับ

Q = (2*9.81*z)^0.5*(3.14*0.25*D^2)

ไซฟ่อน

ภาพที่ 1 แนวคิดการทำไซฟ่อนระบายน้ำท่วมแบบข้ามสิ่งกีดขวาง

จากสมการการคำนวณอัตราการไหลและสมการความเร็วของน้ำไหลผ่านไซฟ่อน เราสามารถใช้สูตร excel ทำการคำนวณและแสดงอัตราการไหลของน้ำผ่านไซฟ่อน ได้ดังภาพที่ 2

ตารางคำนวณไซฟ่อน

ภาพที่ 2 ปริมาณการระบายน้ำผ่านไซฟ่อนต่อวัน

จากภาพที่2 พบว่าการทำไซฟ่อนให้มีประสิทธิภาพสิ่งที่เป็นปัจจัยหลักก็คือความสูงของระดับน้ำ เนื่องจากการสร้างทางไหลของน้ำขนาดใหญ่เป็นไปได้ยากเช่นกันในระยะเวลาอันสั้น

จากที่ได้นำเสนอมาการทำไซฟ่อนแบบข้ามสิ่งกีดขวางมีข้อดีที่ไม่ทำลายแนวพนังกั้นน้ำ (เช่นถนน) แต่ในขณะเดียวกันการสร้างทางไหลของน้ำให้มีขนาดใหญ่มากพอที่จะระบายน้ำได้มากพอก็เป็นไปได้ยากในเวลาอันสั้น แต่ก็สามารถสร้างไซฟ่อนหลายๆเส้นทางเพื่อช่วยระบายน้ำ แต่อุปสรรคสำคัญมากคือระดับน้ำบริเวณพนังกั้นน้ำซึ่งหากปล่อยให้มีระดับสูงมากเพื่อหวังเพิ่มปริมาณการไหลผ่านไซฟ่อนอาจเป็นอันตรายต่อพนังกั้นน้ำได้ เนื่องจากจะมีแรงกระทำกับพนังกั้นน้ำสูงมากดังแสดงในบทความเรื่อง วิธีการวางกระสอบทรายทำพนังกั้นน้ำ จากที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า ระดับน้ำเป็นปัญหาของแนวคิดการทำไซฟ่อนระบายน้ำ

วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การวางกระสอบทรายทำพนังกั้นน้ำ ยิ่งสูงยิ่งต้องแข็งแรง

สวัสดีครับท่านผู้อ่านช่วงนี้ประเทศไทยของเราประสบปัญหาน้ำท่วมกันหลายจังหวัด ในแต่ละชุมชนก็เร่งสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ชุมชน แต่ในขณะเดียวกันเราจะพบข่าวเรื่องพนังกั้นน้ำพังทลายไม่สามารถกั้นน้ำได้เมื่อใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง พนังกั้นน้ำที่สร้างก็มีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบถาวรเช่น คอนกรีต คันดิน หรือแบบชั่วคราวเช่นใช้ กระสอบทรายในการทำเป็นพนังกั้นน้ำ ในขณะที่น้ำท่วมภายนอกจะมีความดันน้ำกระทำกับพนังกั้นน้ำ โดยความดันน้ำจะมีขนาดเพิ่มขึ้นเมื่อวัดจากระดับผิวน้ำ (ผมตั้งสมมุติฐานว่าความเร็วของน้ำบริเวณใกล้ๆพนังมีค่าเป็นศูนย์) โดยความดันน้ำที่ความลึก h เมตรใดๆ จะมีค่าเท่ากับ

P = 9.810h (kPa)

จากข้อมูลที่เราได้รับจากข่าวน้ำท่วมจะพบว่าพนังกั้นน้ำมีความสูงตั้งแต่ 1 – 5 เมตร ดังนั้นความดันบริเวณผิวล่างของพนังกั้นน้ำจะมีค่าสูง ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ความดันน้ำที่ความลึกต่างๆ

ความสูงของพนังกั้นน้ำ (เมตร) ความดันบริเวณผิวล่างของพนังกั้นน้ำ(kPa)

1

9.81

2

19.62

3

29.43

4

39.24

5

49.05

เอาหล่ะครับจากตารางที่ 1 จะพบว่าพนังกั้นน้ำยิ่งสูงยิ่งมีความดันบริเวณผิวล่างสูง เรามาดูกันต่อครับว่าหากเรามีพนังกั้นน้ำยาวซัก 1 เมตรจะมีแรงดันน้ำที่คอยผลักพนังกั้นน้ำของเราประมาณกี่นิวตันหรือกี่ตันกัน หากพนังกั้นน้ำเรามีรูปร่างดังแสดงในภาพที่ 1 โดยความยาวจะอยู่ลึกเข้าไปในรูปภาพนะครับ

พนังกั้นน้ำ

ภาพที่ 1 พนังกั้นน้ำรูปร่างอย่างง่าย

แรงดันน้ำที่กระทำกับพนังกั้นน้ำยาว 1 เมตรจะมีค่าเท่ากับ

F = 9.810*(h0/2)*h0 ดังนั้นเราสามารถคำนวณแรงดันน้ำที่กระทำกับพนังกั้นน้ำยาว 1 เมตรได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 การคำนวณแรงดันน้ำที่กระทำกับพนังกั้นน้ำความยาว 1 เมตรที่ความสูงของน้ำด้านนอก

ความสูงของพนัง
กั้นน้ำ (เมตร)

แรงดันน้ำกระทำกับพนังกั้นน้ำ (N)

แรงดันน้ำกระทำกับพนังกั้นน้ำ (ตัน)

1

4,905

0.5

2

19,620

2.0

3

44,145

4.5

4

78,480

8

5

122,625

12.5

จากตารางที่ 2 ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วแรงดันของน้ำที่กระทำกับพนังกั้นน้ำมีสูงมากขนาดไหน โดยจากการคำนวณยังอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าน้ำบริเวณใกล้พนังกั้นน้ำมีความเร็วเป็นศูนย์ แต่ในความเป็นจริงยังมีพนังกั้นน้ำอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกสร้างขวางการไหลของน้ำซึ่งจะมีแรงดันกระทำกับพนังกั้นน้ำเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมาก เอาหล่ะครับ มาถึงตอนนี้เราก็ได้พบแล้วว่ายิ่งระดับน้ำสูงมากขึ้นก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อพนังกั้นน้ำ เรามาดูรูปร่างของพนังกั้นน้ำที่เหมาะสมและช่วยเพิ่มแรงกดบนกระสอบทรายหรือคันดินที่ใช้เป็นพนังกั้นน้ำเพื่อให้สามารถต้านทานแรงดันของน้ำได้มากขึ้นครับ โดยรูปร่างของพนังกั้นน้ำที่ช่วยเพิ่มแรงกดพนังกั้นน้ำเพื่อให้พนังกั้นน้ำต้านทานน้ำได้ จะมีรูปร่างเป็นแบบพิระมิด ดังแสดงในภาพที่ 3 โดยพบว่าแรงดันที่พยายามผลักและแรงกดพนังกั้นน้ำสามารถคำนวณได้จากสมการ

FT = 9.810*(h0/2)*h0

Fc = 9.810*(h0/2)*(h0/tan(ceta))

แรงดันน้ำท่วมภาพที่ 3 พนังกั้นน้ำแบบพิรามิด

จากสมการค่าแรงกดพนังกั้นน้ำจะขึ้นอยู่กับมุมเอียงของพนังกั้นน้ำครับ หากมุมเป็น 90 องศาก็จะไม่มีแรงกดพนังกั้นน้ำ ขณะที่มุมเอียงพนังกั้นน้ำต่ำๆก็จะมีแรงกดพนังกั้นน้ำสูงขึ้นดังแสดงในตารางที่ 3 ขณะที่แรงดันน้ำที่พยายามผลักทำลายพนังกั้นน้ำก็ยังมีค่าขึ้นอยู่กับความสูงของระดับน้ำเช่นเดิม แต่พนังกั้นน้ำลักษณะนี้จะเพิ่มแรงกดไปที่พนังกั้นน้ำทำให้ประสิทธิภาพการต้านทานสูงขึ้นครับ

ตารางที่ 3 แรงกดพนังกั้นน้ำความยาว 1 เมตร (ตัน)

ความสูง(เมตร) มุมเอียง 90 องศา มุมเอียง 60 องศา มุมเอียง 45 องศา

1

0

0.3

0.5

2

0

1.2

2.0

3

0

2.6

4.5

4

0

4.6

8.0

5

0

7.2

12.5

จากภาพที่ 3 จะกล่าวได้ว่าหากต้องการให้มุมเอียงของพนังกั้นน้ำมีค่าน้อย ความกว้างของฐานพนังกั้นน้ำจะต้องยาวกว่าความกว้างบนผิวยอดของพนังกั้นน้ำมากๆ โดยมุมเอียงสามารถคำนวณได้จากสูตร

ceta = arctan (2H/(L2-L1))

ผลของแรงกดพนังกั้นน้ำต่อความสามารถในการรับวิกฤตน้ำท่วม จะทำให้แรงเสียดทานระหว่างพื้นดินและพนังกั้นน้ำมีค่าสูงกว่า โดยพนังกั้นน้ำแบบพิระมิดจะมีแรงกดกระทำกับพื้นดินเท่ากับ น้ำหนักของกระสอบทรายหรือดิน + แรงกดพนังกั้นน้ำอันเกิดจากความดันของน้ำเองทำให้มีแรงเสียดทานต้านทานมิให้พนังกั้นน้ำเกิดการเลื่อนไถลได้จากสูตร

Ff = Cf*(W+Fc) กรณีพนังกั้นน้ำแบบพิระมิด

เมื่อขนาดของแรงเสียดทานมีค่าสูงมากนอกจากจะต้านมิให้พนังกั้นน้ำไถลไปตามความดันน้ำแล้วยังทำให้พนังกั้นน้ำเกิดเสถียรภาพมากขึ้นเมื่อระดับน้ำมีค่าเพิ่มขึ้น

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดขอสรุปอีกครั้งนะครับว่า พนังกั้นน้ำควรเป็นรูปร่างแบบพิระมิด โดยหากระดับน้ำมีค่าเพิ่มขึ้นควรลดระดับมุมเอียงของผิวพนังกั้นน้ำเพื่อเพิ่มแรงกดลงบนพนังกั้นน้ำป้องกันการเลื่อนไถลและพังทลาย สิ่งสำคัญหากฐานรากของพนังกั้นน้ำไม่แข็งแรงอาจเกิดการทรุดตัวลงได้ การทำพนังกั้นน้ำชั่วคราวโดยใช้กระสอบทรายควรระวังรอยรั่วของพนังกั้นน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยให้วางตำแหน่งพนังกั้นน้ำห่างจากกำแพงรั้วเพื่อจะสามารถสังเกตุเห็นรอยรั่วได้อย่างชัดเจน การเพิ่มความสูงของพนังกั้นน้ำเมื่อระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นจะต้องขยายความกว้างของฐานพนังกั้นน้ำไปด้วยเพื่อให้พนังกั้นน้ำมีความแข็งแรงในการต้านทานความดันของน้ำได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

แนวคิดการทำไซฟ่อนช่วยระบายน้ำ

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

แหล่งให้สินเชื่อเพื่อการบริโภค (Consumer loans) มีที่ใดบ้าง

สวัสดีครับบทความนี้จะขอนำเสนอแหล่งให้สินเชื่อให้กับท่านผู้อ่านครับ จากที่เราได้กล่าวถึง การคำนวณสินเชื่อเพื่อการบริโภคไปแล้วเช่น สินเชื่อรถยนต์ (Car loans) โดยใช้ excel ช่วยในการคำนวณ โดยทำให้เราทราบการคิดคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อ ชนิดของสินเชื่อ ขั้นตอนต่อไปหากท่านผู้อ่านต้องการใช้สินเชื่อ จะมีแหล่งให้สินเชื่อที่ใดบ้าง และเราต้องนำข้อมูลการให้สินเชื่อหรือลักษณะของสินเชื่อของแหล่งให้สินเชื่อต่างๆมาร่วมตัดสินใจในการขอสินเชื่อด้วยครับ ผมขอแบ่งแหล่งให้สินเชื่อจากต้นทุนในการกู้ยืมออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ครับ

1. สินเชื่อที่มีต้นทุนในการกู้ยืมต่ำที่สุด ก็เช่น เงินกู้จากพี่น้อง พ่อแม่ ญาติสนิทหรือเพื่อนๆครับ ซึ่งเงินกู้จากแหล่งสินเชื่อนี้จะมีเงื่อนไขการขอสินเชื่อน้อยมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจะต่ำหรืออาจไม่มีเลย เนื่องจากเป็นการขอสินเชื่อโดยอาศัยความสนิทสนม ความสัมพันธ์ ความไว้ใจ แต่สิ่งที่ต้องระวังในการขอสินเชื่อลักษณะนี้คือการผิดนัดชำระสินเชื่อ หรือการบาดหมางใจกัน กรณีผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระสินเชื่อได้ตามกำหนด แหล่งสินเชื่อลักษณะนี้ผมแนะนำให้เป็นแหล่งสินเชื่อสุดท้ายครับ เพราะเรื่องเงินทองละเอียดอ่อน ไม่ควรนำมาทำลายความสัมพันธ์

2. สินเชื่อที่มีต้นทุนในการกู้ยืมปานกลาง ได้แก่ การขอสินเชื่อจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ และโรงรับจำนำ

2.1 สหกรณ์ออมทรัพย์ จะให้บริการสินเชื่อเฉพาะสมาชิกของสหกรณ์เท่านั้นโดยมีเงื่อนไขการขอสินเชื่อที่ไม่ยุ่งยากนักโดยมีอัตราดอกเบี้ยในการขอสินเชื่อค่อนข้างต่ำ

2.2 ธนาคารพาณิชย์ การขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นลูกค้าเครดิตดี ซึ่งธนาคารจะตรวจสอบข้อมูลเครดิตของผู้ขอสินเชื่อค่อนข้างละเอียดเพื่อให้มั่นใจในความสามารถชำระสินเชื่อ แต่ดอกเบี้ยในการขอสินเชื่อจะสูงกว่าสินเชื่อจากสหกรณ์ โดยธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแบบ ลดต้นลดดอก ตัวอย่างของประเภทสินเชื่อที่ธนาคารให้บริการเช่น สินเชื่อบ้าน (Home loans) สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อส่วนบุคคล(Personal loans) เป็นต้น

2.3 โรงรับจำนำ เป็นการให้สินเชื่อที่ต้องมีหลักประกันและเป็นสินเชื่อระยะสั้น โดยอัตราดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก

3. สินเชื่อที่มีต้นทุนในการกู้ยืมสูงที่สุด คือการกู้ยืมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (Finance companies) โดยในส่วนของสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่เราจะพบในบริการของบริษัทเงินทุนคือ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล โดยบริษัทเงินทุนจะพิจารณาสินเชื่อในเวลาอันสั้นและอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายกว่าธนาคารพาณิชย์แต่ขอเสียคืออัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเนื่องจากบริษัทเงินทุนคิดดอกเบี้ยแบบ Add-on Method

จากที่ได้นำเสนอแหล่งสินเชื่อจากที่ต่างๆ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะเข้าใจและมีข้อมูลในการช่วยตัดสินใจขอสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่ดี จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีครับ เดี๋ยวเรามาพบกันในบทความต่อไปนะครับ

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel คำนวณสินเชื่อเพื่อการบริโภค (Consumer loans) ตอนที่ 2

การคำนวณสินเชื่อ โดยใช้ excel ในบทความนี้จะกล่าวต่อเนื่องจากการคำนวณสินเชื่อในบทความที่ผ่านมาครับ โดยจะกล่าวถึงวิธีการคิดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่จ่ายชำระคืนแบบผ่อนชำระ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อทั่วไปนิยมใช้บริการจากสถาบันการเงินหรือผู้ให้สินเชื่อ การคำนวณสินเชื่อแบบผ่อนชำระมี 2 วิธี ดังนี้

1. Simple Interest Method เป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระที่มีจำนวนเงินผ่อนชำระเท่ากันทุกงวด โดยเงินที่ผ่อนชำระคืนในแต่ละงวดของสินเชื่อประเภทนี้จะประกอบด้วย เงินต้น และ ดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยสินเชื่อวิธีนี้เป็นการคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ค้างชำระเท่านั้น จึงส่งผลให้เงินจำนวนเงินที่ผ่อนชำระในงวดแรกๆมีสัดส่วนของดอกเบี้ยมากกว่างวดหลัง เนื่องจากในงวดแรกๆ ยังมีการชำระเงินต้นไม่มากนักจึงทำให้มียอดหนี้คงค้างสูง การคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อแบบนี้นิยมเรียกว่า การคิดแบบต้นลดดอกลด หรือลดต้นลดดอก การคำนวณดอกเบี้ยและเงินต้นในแต่ละงวดสามารถใช้สูตร excel : PMT ซึ่งได้นำเสนอไปแล้ว ข้อสังเกต การคิดดอกเบี้ยสินเชื่อแบบผ่อนชำระเท่ากันทุกงวดด้วยวิธี Simple Interest Method อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้

2. Add-on Method การคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อด้วยวิธีนี้สามารถหาจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระสินเชื่อได้จากการนำเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยจ่ายและนำมาเฉลี่ยเป็นจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละงวดดังสมการต่อไปนี้

จำนวนเงินที่ผ่อนสินเชื่อ = (เงินต้น + ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด)/N

เมื่อ N คือ จำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระสินเชื่อ

การคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง

APR = n(95N + 9)I/(12N(N+1)(4P+I))

เมื่อ

APR คืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง

n คือจำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระสินเชื่อใน 1 ปี

N คือจำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระสินเชื่อ

I คือดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย(บาท)

P คือเงินต้น(บาท)

อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของวิธีการคิดแบบ Add-on Method จะมีค่าสูงกว่าวิธี Simple Interest Method ค่อนข้างมาก ท่านผู้อ่านสามารถใช้ excel ช่วยคำนวณเปรียบเทียบได้ วิธีการคิดดอกเบี้ยแบบ Add-on Method จะพบมากในสินเชื่อรถยนต์ครับ

ในบทความนี้ทุกท่านก็ได้รู้จักวิธีการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อผู้บริโภคได้ครบแล้วนะครับก็หวังว่าแนวคิดหรือวิธีการคำนวณจะช่วยท่านผู้อ่านในการตัดสินใจเลือกใช้สินเชื่อแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสมครับ บทความต่อไปจะนำเสนอข้อดีข้อเสียของแหล่งให้สินเชื่อผู้บริโภคต่อครับ สวัสดีครับ

วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel คำนวณสินเชื่อเพื่อการบริโภค (Consumer loans) ตอนที่ 1

การใช้ excel ในบทความนี้ขอนำเสนอการคำนวณสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงมีโอกาสได้สัมผัสกันบ้างแล้ว โดยพบว่ามีความแตกต่างจากบัตรเครดิตอยู่บ้างซึ่งจะกล่าวในคราวต่อไปครับ โดยส่วนใหญ่สินเชื่อเพื่อการบริโภคมักจะถูกใช้ในการไปซื้อของที่มีราคาสูงเช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน หรือนำไปใช้วัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่น สินเชื่อเพื่อการศึกษาต่อ สินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคจะได้มาในรูปแบบของเงินสดครับ มาดูชนิดของสินเชื่อเพื่อการบริโภคกันก่อนครับ หากแบ่งตามลักษณะการจ่ายชำระคืนสินเชื่อ จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. สินเชื่อที่จ่ายคืนครั้งเดียว (Single payment loans) โดยจะจ่ายคืนครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยทั่วไปพบว่าจะมีระยะเวลาของสินเชื่อไม่เกิน 1 ปี
  2. สินเชื่อที่จ่ายคืนแบบผ่อนชำระ (Installment loans) เป็นสินเชื่อที่ผู้กู้จะต้องจ่ายชำระคืนเป็นงวดๆ และมักจะพบการกำหนดให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน

หากแบ่งตามหลักประกันในการกู้ยืม จะแบ่งสินเชื่อเพื่อการบริโภคเป็น 2 ชนิดเช่นกันคือ

  1. สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loans) เป็นการขอสินเชื่อที่ผู้ขอมีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน หากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระสินเชื่อได้ตามกำหนด จะถูกผู้ให้กู้นำสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายชำระสินเชื่อ เช่น สินเชื่อรถยนต์ ก็มีรถยนต์เป็นหลักประกัน สินเชื่อบ้านก็มีบ้านเป็นหลักประกัน เป็นต้น
  2. สินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured loans) เป็นการขอสินเชื่อที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆเป็นหลักประกัน ซึ่งแน่นอนครับ ดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราที่สูงกว่าสินเชื่อชนิดมีหลักประกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ไม่ได้รับเงินต้นและดอกเบี้นคืน ตัวอย่างเช่น สินเชื่อส่วนบุคคล(Personal loans)

มาดูวิธีการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อการบริโภค

  1. สินเชื่อจ่ายคืนครั้งเดียว มีวิธีคิดดอกเบี้ย 2 วิธีดังนี้
    1. Simple Interest Method คำนวณดอกเบี้ยดังนี้

ดอกเบี้ย = เงินต้น*อัตราดอกเบี้ย*ระยะเวลากู้คืน (1)

หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ขอสินเชื่อต้องจ่ายจริงสามารถหาได้ดังนี้

อัตราดอกเบี้ยแท้จริง = 2*n*ดอกเบี้ยที่จ่ายตามสมการที่ 1/(P(N+1) (2)

เมื่อ n คือจำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระใน 1 ปี

P คือเงินต้น

N คือ จำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระทั้งหมด

การคิดดอกเบี้ยด้วยวิธี Simple Interest Method อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีค่าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ระบุ

2. วิธี Discount การคำนวณดอกเบี้ยจะเหมือนกับวิธี Simple Interest Method แต่แตกต่างกันที่วิธีการนี้ผู้ให้สินเชื่อจะหักดอกเบี้ยไว้ก่อน ซึ่งทำให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับเงินจากสินเชื่อไปเท่ากับ เงินต้น – ดอกเบี้ย และเมื่อครบกำหนดผู้ขอสินเชื่อจะต้องชำระสินเชื่อคืนตามจำนวนเงินต้นที่ระบุไว้ เช่น ต้องการยืมเงิน 10,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ผู้ขอสินเชื่อจะได้รับเงินไปเท่ากับ 10,000 – 500 = 9,500 และเมื่อครบกำหนดผู้ขอสินเชื่อจะต้องชำระสินเชื่อเป็นเงิน 10,000 บาท (เรียกง่ายๆในวงการหนี้ว่า ดอกหัก)

หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสมการที่ 2 จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของการคิดดอกเบี้ยแบบวิธี Discount จะมีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุ

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเขียนสูตร excel เพื่อคำนวณดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพื่อใช้เปรียบเทียบและตัดสินใจในการขอสินเชื่อต่อไปครับ เดี๋ยวบทความต่อไปผมจะมาเล่าถึงการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อชนิดที่จ่ายจ่ายคืนแบบผ่อนชำระต่อไปครับ สวัสดีครับ

ปล สินเชื่อนอกระบบ (เงินกู้นอกระบบ) ก็คิดดอกเบี้ยใน 2 ลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดขึ้นมาจะมีค่าสูงกว่าสินเชื่อในระบบซึ่งถูกควบคุมด้วยกฎหมายครับ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์

บทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ ซึ่งมีผลต่อบัญชีรายรับรายจ่ายของทุกท่าน(เชื่อผมเถอะ) หลังจากสินเชื่อรถยนต์ของท่านผู้อ่านผ่านการอนุมัติแล้ว เรามาดูกันต่อครับว่านอกจากค่างวดสินเชื่อรถยนต์แล้ว เรายังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์อะไรอีกบ้าง มาดูกันเลยครับ จากประสบการณ์โดยตรงนะครับขอแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 ประเภท คือ ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร

1. ค่าใช้จ่ายคงที่ ได้แก่ ค่าเสื่อมราคา ค่างวดผ่อนชำระของสินเชื่อรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าธรรมเนียมต่อทะเบียนรถ

1.1 ค่าเสื่อมราคา คือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการที่มูลค่าของรถยนต์ลดลง ซึ่งต้องนำมาพิจารณาเป็นต้นทุนของรถยนต์ด้วย การคำนวณค่าเสื่อมราคาของรถยนต์สามารถคำนวณได้ง่ายๆ โดยการนำราคาทุนของรถยนต์มาหักด้วยราคาซากและนำมาหารด้วยอายุการใช้งานโดยประมาณของรถยนต์

ค่าเสื่อมราคาต่อปี = (ราคาทุนรถยนต์ - ราคาซาก) / อายุการใช้งาน

1.2 ค่างวดผ่อนชำระขอสินเชื่อรถยนต์ เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งผู้ที่ซื้อรถยนต์ต้องชำระให้กับไฟแนนท์ รายละเอียดได้นำเสนอไปแล้วในบทความที่ผ่านมา

1.3 เบี้ยประกันภัย ประกันภัยที่เจ้าของรถยนต์จะต้องทำแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1.3.1 ประกันภัยบุคคลที่ 3 ตาม พรบ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พศ 2535 ซึ่งจะต้องทำทุกคัน

1.3.2 ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่า พรบ ซึ่งไม่ได้ถูกบังคับต้องทำ โดยทั่วไปมีให้เลือก 3 ระดับ คือ ประกันภัยชั้นที่ 1 ประกันภัยชั้นที่ 2 ประกันภัยชั้นที่ 3 โดยประกันภัยชั้นที่ 1 ให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองสุงที่สุดแต่แน่นอนเบี้ยประกันก็สูงสุดเช่นกัน โดยทั่วไปผู้ซื้อรถผ่านสินเชื่อรถยนต์มักจะถูกกำหนดให้ทำประกันภัยชั้นที่ 1 ในปีแรก

1.4 ค่าธรรมเนียมต่อทะเบียนรถ จะต้องต่อทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกทุกๆปี โดยค่าธรรมเนียมจะขึ้นอยู่กับประเภทรถ น้ำหนักรถ และอายุการใช้งาน

1.5 อื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ จะพบมากในเมืองหลวงครับ ซึ่งเราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน

2 ค่าใช้จ่ายผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้

2.1 ค่าน้ำมัน เป็นค่าใช้จ่ายหลัก จะมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน อายุการใช้งาน ผู้ซื้อรถควรจะคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันและบันทึกประกอบการวางแผนค่าใช้จ่าย

2.2 ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม รถยนต์ใหม่จะถูกกำหนดให้เข้ารับการบำรุงรักษาตามระยะทางและเวลา ให้ระวังระยะทางที่เป็นเลขคู่ เช่น 20,000 , 40,000 กม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง ล้อยางก็มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ครึ่ง การซื้อรถยนต์มือ 2 จะมีภาระในส่วนนี้มากกว่ารถยนต์ใหม่

2.3 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าทางด่วน

จะเห็นว่ายังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์อื่นๆนอกจากค่าสินเชื่อรถยนต์ที่ท่านผู้อ่านต้องคำนึงก่อนจะตัดสินใจขอสินเชื่อรถยนต์ครับ ตัวแปรสำคัญที่ท่านต้องควบคุมให้ได้คือค่าใช้จ่ายผันแปร จำพวก ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน เป็นต้น ก็หวังว่าข้อมูลที่นำเสนอไปจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านครับ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel คำนวณสินเชื่อรถยนต์ (How to calculate a car loan)

การใช้ excel ในบทความนี้จะขอนำเสนอ การคำนวณสินเชื่อรถยนต์ (car loan) ครับ สินเชื่อรถยนต์หรือกล่าวกันง่ายๆว่า ค่างวดรถยนต์นั่นเองครับ การคำนวณสินเชื่อรถยนต์จะแตกต่างการคำนวณสินเชื่อซื้อบ้านครับ โดยสินเชื่อรถยนต์จะเป็นการคิดคำนวณแบบทบต้นทบดอก (Flat Rate) ขณะที่การคำนวณสินเชื่อบ้านจะคำนวณแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) เรามาดูหลักการคำนวณสินเชื่อรถยนต์กันครับ เมื่อท่านต้องการจะเช่าซื้อรถมือ 2 หรือป้ายแดงก็ตามแต่ ไฟแนนซ์รถยนต์จะแจ้งราคารถยนต์ที่เราต้องการจัดสินเชื่อมาให้ครับโดยจะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว การคำนวณสินเชื่อรถยนต์ จะเริ่มจากนำเงินดาวน์มาหักลบกับราคาตั้งต้นรวม VAT จากนั้นจะนำเงินต้นที่เหลือมาคำนวณหาดอกเบี้ยตามจำนวนงวดที่ผู้เช่าซื้อต้องการ ค่างวดรถยนต์จะสามารถคำนวณได้โดยนำเงินต้นรวมดอกเบี้ยที่ได้หารด้วยจำนวนงวดผ่อนรถยนต์ มาดูตัวอย่างกันเลยครับ สมมุติ ผมต้องการซื้อรถมือ 2 (โดยปกติราคารถมือ 2 จะถูกกว่า) ราคารถยนต์ตั้งต้นรวม VAT 900,000 บาท หากดอกเบี้ยของสินเชื่อรถมือ 2 เท่ากับ 6.0% และจำนวนงวดที่ต้องการผ่อนจ่ายสินเชื่อรถมือ 2 คันนี้เท่ากับ 60 เดือน เรามาดูการใช้ excel ช่วยคำนวณกันเลย ดังแสดงในภาพที่ 1
สินเชื่อรถยนต์
ภาพที่ 1 การใช้ excel คำนวณสินเชื่อรถยนต์
ท่านผู้อ่านสามารถทดลองเปลี่ยนเงินต้นใน Cell C4 จำนวนงวด เงินดาวน์ และดอกเบี้ยของสินเชื่อรถยนต์ ได้ ซึ่งจะช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกไฟแนนซ์รถยนต์ที่เหมาะสมกับกระเป๋าเงินของท่านผู้อ่านได้ครับ บทส่งท้ายของบทความนี้อยากจะแจ้งท่านผู้อ่านว่า บทความนี้เป็นบทความที่ 100 ของ blog แล้วนะครับ เราจะคัดสรรความรู้ต่างๆที่บางคนอาจรู้หรือบางคนอาจไม่รู้มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านครับเพื่อให้สมกับแนวคิดของเราครับ learning-be เรียนรู้ที่จะเป็นครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความที่เกินร้อยของ blog ครับ สวัสดีครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตัวอย่าง kpi : ค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน (Energy cost)

ตัวอย่าง kpi ในบทความนี้จะขอนำเสนอตัวชี้วัด kpi ด้านต้นทุน (Cost KPI) โดยตัวชี้วัด kpi ที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานสำหรับการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เรามาดูรายละเอียดของตัวชี้วัด kpi นี้กันครับ
จุดประสงค์ของการใช้ตัวชี้วัด kpi : เพื่อใช้วัดค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานในการผลิตสินค้า โดยพลังงานที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่จะเป็น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน
ข้อมูลนำเข้า
  1. Energy cost คือค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน
  2. ปริมาณการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์
การคำนวณ
Energy cost =ค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน/ปริมาณการผลิตสินค้า
หน่วยของตัวชี้วัด kpi : บาทต่อกิโลกรัมสินค้า หรือ บาทต่อตันสินค้า
รายงานการประเมินผลตัวชี้วัด kpi
ควรรายงานเป็นสัปดาห์เพื่อให้ทราบและติดตามแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจแยกเป็นแต่ละแผนก

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel ช่วยคำนวณด้านการเงิน : เงินฝากประจำแบบพิเศษ

การใช้ excel ในบทความนี้จะขออธิบายการคำนวณการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงิน ดอกเบี้ย ซักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจ การเงิน หากกล่าวถึง การเงิน เรื่องพื้นฐานที่ต้องทราบก็คือ ค่าเงินปัจจุบัน ค่าเงินอนาคต ซึ่งการคำนวณการเงินดังกล่าวจะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเงิน นั่นคืออัตราดอกเบี้ย และเวลา นั่นเองครับ เงิน 100 บาทในวันนี้หากนำไปฝากธนาคารอีก 2 ปี ค่าเงินก็จะเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อนั่นเองครับ เรามาดูพื้นฐานการคำนวณด้านการเงินกันก่อนครับ ในบทความนี้เราจะกำหนดค่าเงินไว้ 2 ประเภทคือ ค่าเงินในปัจจุบัน และค่าเงินในอนาคต โดยจะแทนด้วยตัวแปร PV และ FV อัตราดอกเบี้ยต่อปีจะแทนด้วย R และเวลาเป็นปีจะแทนด้วย n ครับ มาดูการคิดค่าเงินกันเลยครับ

สมมุติมีเงินในปัจจุบัน PV บาท นำไปฝากธนาคาร ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก R% ต่อปี ดังนั้นหนึ่งปีถัดไปค่าเงินในอนาคตที่หนึ่งปีจะมีค่าเท่ากับ PV*(1+R%) เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ค่าเงินในอนาคตจะมีค่าเท่ากับ

เงินต้นปีที่ 1 *(1+R%) = PV*(1+R%)*(1+R%) = PV(1+R%)^2

ดังนั้นจากความสัมพันธ์ดังกล่าว เราสามารถคำนวณค่าเงิน ณ ปีที่ n ได้เท่ากับ

FV = PV*(1+R%)^n

ในทำนองเดียวกันเราก็สามารถใช้ความสัมพันธ์นี้คำนวณย้อนกลับได้เพื่อหาค่าเงินในปัจจุบันหากเราต้องการมีเงินในอนาคต สามารถเขียนได้เป็น

PV = FV/(1+R%)^n

จะสูตรคำนวณค่าเงินที่ได้นำเสนอมาเราสามารถใช้ excel ช่วยในการคำนวณได้อย่างไม่ยากนัก มาดูกันต่อครับ ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่จะมีบริการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทพิเศษซึ่งดอกเบี้ยจะไม่ถูกหักเป็นภาษีเงินได้ครับ นั่นคือบัญชีเงินฝากลักษณะที่ต้องฝากประจำทุกเดือนเดือนละเท่าๆกัน จนครบระยะเวลาที่กำหนดครับ ซึ่งธนาคารจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วๆไป เรามาดูกันครับว่ามีวิธีการคิดอย่างไร โดยเราจะใช้สูตรการคำนวณการเงินดังที่ได้นำเสนอมาครับ โดยมีแนวคิดของการฝากสะสมทุกเดือนว่า เงินต้นรวมดอกเบี้ยของเดือนที่ผ่านมาจะเป็นเงินต้นของเดือนปัจจุบัน เอาหล่ะครับมาดูแบบฟอร์มการใช้ excel กันก่อนเลยครับ

การเงิน

ภาพที่ 1 แบบฟอร์มการใช้ excel คำนวณค่าเงินในอนาคต

จากภาพที่ 1 เป็นการคำนวณค่าเงินฝากในอนาคตสิ้นสุดเดือนที่ 12 ของการฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1000 บาท โดยในหลัก F เป็นค่าเงินในอนาคตที่สิ้นสุดทุกๆปลายเดือนซึ่งจำคำนวณได้ด้วยสูตร FV = PV*(1+R%/12) ครับ เนื่องจากระยะเวลาห่างกันเท่ากับ 1 เดือน จากนั้นเงินต้นของเดือนถัดมาก็จะถูกคำนวณโดยใช้สูตร excel เช่น

ใน E2 = F1 + $E$1

สุดท้ายก็จะได้ค่าเงินในอนาคตเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 12 ดังภาพที่ 1 ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าการคำนวณตามแบบฟอร์มการใช้ excel ดังกล่าว ค่าอัตราดอกเบี้ยในแต่ละเดือนไม่จำเป็นต้องเท่ากัน (ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน อัตราดอกเบี้ยมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด) แต่หากอัตราดอกเบี้ยมีค่าเท่ากันตลอดระยะเวลาที่ฝาก ก็สามารถใช้สูตร excel ด้านการเงินช่วยคำนวณได้เลย โดยรูปแบบของสูตร excel มีดังนี้

FV(rate,nper,pmt,[pv],[type])

ในกรณีของตัวอย่างการคิดค่าเงินในอนาคตสามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้

FV(4%/12,12,-1000,0,1) จะได้ค่าเงินฝากในอนาคตเดือนที่ 12 เท่ากัน แต่หากใช้สูตร

FV(4%/12,12,-1000,0,0) จะได้ค่าเงินฝากเฉพาะเงินต้นในเดือนที่ 12 ครับ

จากบทความนี้ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประมาณการด้านการเงินในกรณีการฝากเงินของทุกท่านได้ครับ ทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งครับ การกู้เงินถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนครับ ดังนั้นการคำนวณเงินกู้ก็จะเป็นไปในทำนองคล้ายกันครับ สวัสดีครับ

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

kpi : เทคนิคการออกแบบ แบบฟอร์ม kpi

แบบฟอร์ม kpi มีประโยชน์ในการติดตามปัญหาต่างๆเพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงได้ง่ายในภายหลังรวมถึงใช้ในการประเมินผล ตัวชี้วัด kpi ของบุคคลหรือแผนกใดๆ โดยปกติแล้วก่อนจะบันทึกลงข้อมูลในแบบฟอร์ม kpi ในการทำ kpi ควรจะออกแบบแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลพื้นฐานลงในกระดาษก่อนเพื่อบันทึกรายละเอียดได้มากเพียงพอ ก่อนบันทึกลงในแบบฟอร์ม kpi ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดังได้นำเสนอเป็นตัวอย่าง kpi มาบ้างแล้ว เช่น แบบฟอร์ม kpi การผลิต ค่า oee ค่า AR แบบฟอร์ม kpi ซ่อมบำรุง ค่า MTBF เป็นต้น การออกแบบแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลพื้นฐานจะต้องมีความสมบูรณ์มีรายละเอียดเพียงพอและครอบคลุมจุดสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เพื่อบันทึกลงแบบฟอร์ม kpi นั้นๆ มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการสูญเปล่าในการบันทึกข้อมูล
เทคนิคที่ใช้ในการออกแบบแบบฟอร์มการรายงานจะใช้คำถาม 5W 1H ซึ่งจะครอบคลุมรายละเอียดต่างๆที่เพียงพอ โดยรายละเอียด 5W 1H ที่ควรมีคือ
  1. Where คือสถานที่ แผนก เครื่องจักร ที่เราสนใจจะประเมินผล kpi
  2. What คือ ตัวชี้วัด kpi , ชื่อหัวข้อหรือสิ่งที่สนใจในการติดตามหรือบันทึก
  3. When คือวันและเวลาที่บันทึกข้อมูล
  4. Who คือใครเป็นผู้บันทึกแบบฟอร์ม kpi หรือแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐาน หรือใครเป็นผู้รับผิดชอบ
  5. Why คือเหตุใดต้องบันทึกหรือความสำคัญของข้อมูลหรือตัวชี้วัด kpi นี้ เพื่อให้ผู้บันทึกทราบ
  6. How ควรมีข้อความแนะนำการใช้แบบฟอร์มหรือวิธีการคำนวณ
เราจะเห็นว่าหากเราออกแบบแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐานที่ดีและดำเนินการบันทึกแบบฟอร์มข้อมูลดังกล่าวลงใน excel หากท่านศึกษา การใช้ excel และการใช้สูตร excel เพียงพอแล้ว แบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐานที่ออกแบบมาจะกลายเป็นแบบฟอร์ม kpi ได้เลย
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

vba excel : สร้างสูตร excel แปลงหน่วยเวลา

vba excel วันนี้จะขอนำเสนอการสร้างสูตร excel แปลงหน่วยเวลา เพื่อใช้งาน excel ปัญหาการคำนวณเวลาใน excel ยังมีความยุ่งยากในการใช้งานโดยเฉพาะรูปแบบของเวลาในการใช้ excel ผมได้เคยนำเสนอการใช้ excel เกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้อมูลด้านเวลามาพอสมควรในบทความที่ผ่านๆมา เรามาดูปัญหาที่ต้องแก้กันในหัวข้อนี้ครับ ปกติผู้ใช้งาน excel มักจะคุ้นเคยกับการบันทึกค่าเวลาในรูปแบบ h.mm เช่น 7.45 จะหมายถึง 7 ชั่วโมง 45 นาที รูปแบบของเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวเลขฐานสิบที่เราคุ้นเคยกัน นั่นคือ 0.45 + 0.20 มิได้หมายถึง 0.65 แต่จะหมายถึง 1.05 ดังนั้นบทความนี้เราจะมาสร้าง สูตร excel เพื่อแปลงหน่วยเวลาให้ตรงกันเพื่อให้สามารถดำเนินการบวก ลบ คูณ หาร ได้ครับ เริ่มจากเราจะสร้างสูตรแปลงเวลารูปแบบที่ผู้ใช้ excel คุ้นเคยไปยังรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้เราจะตั้งชื่อสูตร excel นี้ว่า TimeToMin โดยจะรับค่าเวลาในรูปแบบปกติเข้ามาดำเนินการและคืนค่าเวลาในหน่วยนาทีกลับไป

แนวคิด

ค่าเวลาที่รับมาจะถูกคูณด้วย 100 เพื่อแปลงเป็นจำนวนเต็ม และหารเอาเศษด้วย100 ด้วยฟังก์ชั่น mod ใน vba เศษที่ได้จะเป็นเวลาในหลักนาที ดังตัวอย่าง

หากค่าเวลาที่รับมาเป็น 7.45 ดังนั้น 7.45*100 = 745 เมื่อนำ 745 ไปหารเอาเศษด้วย 100 จะได้เท่ากับ 45 นั่นเอง

คำนวณจำนวนชั่วโมงได้ดังนี้

hr = (7.45*100 –45)/100 = 700/100 = 7

คำนวณเวลาในหน่วยนาทีได้ดังนี้

time = 7*60+45 = 465 นาที

เขียนเป็นฟังก์ชันใน vba ได้ดังนี้ครับ

Function TimeToMin(time As Double) As Integer
Dim min As Integer
Dim hr As Integer
min = (time * 100) Mod 100
hr = (time * 100 - min) / 100
TimeToMin = hr * 60 + min
End Function

การแปลงค่าเวลาจากหน่วยนาทีมาอยู่ในรูปแบบ h.mm สามารถเขียนฟังก์ชันใน vba ได้ดังนี้ครับ

Function MinToTime(time_m As Integer) As Double
Dim min As Integer
Dim hr As Integer
min = time_m Mod 60
hr = (time_m - min) / 60
MinToTime = (hr * 100 + min) / 100
End Function

การเรียกใช้สูตร excel ที่พัฒนาจาก vba ดูได้จากบทความพื้นฐาน vba excel ครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะนำไปประยุกต์ใช้กับการใช้ excel ที่เกี่ยวข้องกับเวลาได้นะครับ เพราะบางครั้งสูตร excel ที่สำเร็จรูปก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างง่ายและสะดวกครับ แล้วพบกับบทความการใช้ excel อื่นๆต่อไปนะครับสวัสดีครับ

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้า

การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้าในบทความนี้จะต่อจากเนื้อหาบทความ การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้าเพื่อประหยัดไฟฟ้า ซึ่งเนื้อหาในบทความดังกล่าวจะกล่าวถึงการคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าจากกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยและเวลาที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้น โดยสุดท้ายเราจะได้พลังงานไฟฟ้ารวมที่เราใช้ไปในหนึ่งเดือนโดยประมาณ ในบทความนี้จะมาต่อกันด้วยการนำพลังงานไฟฟ้าที่คิดได้มาคิดค่าไฟฟ้าออกมาเป็นจำนวนเงินที่เราจะต้องจ่าย ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนกับรายจ่ายของเราครับ ก่อนอื่นผมขออธิบายค่าไฟฟ้าซึ่งการไฟฟ้าคิดจากเราก่อนนะครับ ซึ่งจะประกอบด้วยรายการดังนี้ครับ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน ก็คิดตามจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันตามจริงครับ
  2. ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า ft) อันนี้ก็ตามชื่อครับผันแปรตามการไฟฟ้าครับในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน บ้านไหนใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะก็จะถูกเก็บส่วนนี้เยอะครับ เพราะเป็นส่วนต้นทุนพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าครับ
  3. ค่าบริการ ตัวนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้ไฟและจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันตามจริงในแต่ละเดือนครับ
  4. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อันนี้ก็เป็นภาระของเราครับ End user

จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าวเรามาออกแบบ excel เพื่อคิดค่าไฟฟ้ากันก่อนเลยครับ ดังแสดงในภาพที่ 1

คิดค่าไฟฟ้า

ภาพที่ 1 รูปแบบ worksheet ใน excel เพื่อคำนวณค่าไฟฟ้า

หลักการทำงานของ worksheet นี้ สมมุติเราเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยุ่อาศัย

  1. ผู้ใช้ป้อนจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือนลงในช่อง C2 และป้อนค่า ft ต่อหน่วยในช่อง C2
  2. สูตร excel ที่เราป้อนในช่อง D2 และ D4 จะคำนวณค่าไฟฟ้าฐานและค่าบริการให้
  3. สูตร excel ที่เราป้อนในช่อง D3 จะคำนวณค่า ft ให้
  4. สูตร excel ที่เราป้อนในช่อง D5 จะคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มให้
  5. กำหนดประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า 1.1 หรือ 1.2 ในช่อง C7

เอาหล่ะครับเรามาดูการใช้สูตร excel ในแต่ละช่องกันเลยครับ

การใช้สูตร excel ช่อง D3 เนื่องจากค่า ft จะเท่ากับ ค่า ft ต่อหน่วยคูณกับจำนวนพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นจะเขียนสูตร excel ได้ดังนี้

= C3*C2

ใช้สูตร excel if เพื่อตรวจสอบว่าช่อง C3 และ C2 ว่างหรือไม่เพื่อความถูกต้องจะเขียนสูตร excel ได้เป็น

= IF(C2<>"", IF(C3<>"", C3*C2,""),"")

การใช้สูตร excel ในช่อง D4 จะตรวจสอบเงื่อนไขประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยหากเป็นประเภท 1.1 การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ต่อเดือนจะคิดค่าบริการ 8.19 บาท และประเภท 1.2 การใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนจะคิดค่าบริการ 40.90 โดยประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้าจะถูกกำหนดในช่อง C7 ใช้สูตร excel ได้ดังนี้ (ประเภทของผู้ใช้ต้องเป็น 1.1 หรือ 1.2 เท่านั้น)

= IF(C7=1.1,8.19,IF(C7=1.2,40.9,""))

หากต้องการตรวจสอบว่าช่อง C7 ว่างหรือไม่เพื่อความถูกต้องจะต้องใช้สูตร excel if มาช่วยอีกครั้งได้เป็น

=IF(C7<>"",IF(C7=1.1,8.19,IF(C7=1.2,40.9,"")),"")

การใช้สูตร excel ในช่อง D5 จะเป็นค่าการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าไฟฟ้าทั้งหมด จะเขียนสูตร excel ได้ดังนี้

= IF(C5<>"",C5*SUM(D2:D4)/100,"")

เอาหล่ะครับมาถึงการคำนวณที่สำคัญนั่นคือ ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งการคิดค่าไฟฟ้าฐานจะคิดแบบขั้นบันได ท่านผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปศึกษาการคิดแบบขั้นบันไดได้จากบทความเรื่อง การใช้งาน Excel ประยุกต์ VLOOKUP คำนวณค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได โดยจากตารางการคิดค่าไฟฟ้าประเภทที่อาศัยของการไฟฟ้านครหลวงมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

ประเภท1.1 การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

  • 5 หน่วย (หน่วยที่ 1-5) เป็นเงิน 0.00 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 6-15) หน่วยละ 1.3576 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่16-25) หน่วยละ 1.5445 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 1.7968 บาท
  • 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 2.1800 บาท
  • 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 2.2734 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป(หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 2.7781 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 2.9780 บาท

ประเภท 1.2 การใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน

  • 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 1.8047 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 2.7781 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 2.9780 บาท

จากเงื่อนไขค่าไฟฟ้าประเภท 1.1 ดังกล่าวสามารถเขียนเป็นตารางค่าไฟฟ้าสะสมที่ระดับหน่วยการใช้ไฟฟ้าต่างๆได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.1

จำนวนหน่วยขั้นต่ำ

ค่าไฟฟ้าสะสม

ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย

0

0

0

5

0

1.3576

15

= 10*1.3576 = 13.576

1.5445

25

= 10*1.5445 +13.576 = 29.021

1.7968

35

= 10*1.7968 + 29.021 = 46.989

2.18

100

=65*2.18+46.989 = 188.689

2.2734

150

= 50*2.2734 + 188.689 = 302.359

2.7781

400

= 250*2.7781 + 302.359 = 996.884

2.978

จากเงื่อนไขค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 ดังกล่าวสามารถเขียนเป็นตารางค่าไฟฟ้าสะสมที่ระดับหน่วยการใช้ไฟฟ้าต่างๆได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.2

จำนวนหน่วยขั้นต่ำ

ค่าไฟฟ้าสะสม

ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย

0

0

1.8047

150

=150*1.8047=270.705

2.7781

400

=250*2.7781=694.525

2.978

จากบทความการคิดค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได เราจะใช้สูตร excel : vlookup และ excel if มาช่วยคิดค่าไฟฟ้ากันครับ เริ่มจากตรวจสอบว่าช่อง C2 ว่างหรือไม่หากว่างจะไม่คำนวณอะไร หากไม่ว่างจะคิดค่าไฟฟ้าต่อไป สามารถใช้สูตร excel ดังนี้ครับ

= IF (C2<> “”,คิดค่าไฟฟ้า,””) สูตร excel 1

ขั้นตอนต่อมาการคิดค่าไฟฟ้าต้องกำหนดประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยในที่นี้เราจะกำหนดไว้ที่ช่อง C7 โดยค่าเริ่มต้นจะเป็นประเภท 1.1

ให้ท่านบันทึกข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าในตารางที่ 1 และ 2 ลงใน worksheet เดียวกับแผ่น sheet การคิดค่าไฟฟ้าดังแสดงในภาพที่ 2

การคิดค่าไฟฟ้าสะสมภาพที่ 2 ข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าใน excel

ในส่วนของการคิดค่าไฟฟ้าจะเริ่มจากตรวจสอบประเภทของผู้ใช้ในช่อง C7 ใช้สูตร excel ดังนี้

IF(C7 = 1.1 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.1 , ตรวจสอบช่อง C7 อีกครั้ง)

หากไม่ใช่ประเภท 1.1 จะตรวจสอบช่อง C7 อีกครั้งว่าเป็น ประเภท 1.2 หากใช่ก็คิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 หากไม่ใช่จะไม่คำนวณอะไรเลย ใช้สูตร excel ดังนี้

IF(C7 = 1.2 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.2 , “”)

ดังนั้นจะได้สูตร excel ที่ตรวจสอบประเภทของผู้ใช้ได้ดังนี้

IF(C7 = 1.1 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.1 , IF(C7 = 1.2 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.2 , “”))

การคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.1 สามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้

ค่าไฟฟ้าสะสมของชั้นนี้ + ค่าไฟฟ้าเฉพาะชั้นนี้

VLOOKUP(C2,G2:I9,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G2:I9,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G2:I9,3,TRUE)

การคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 สามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้ ตารางข้อมูลเปลี่ยนเป็น G11:I13

VLOOKUP(C2,G11:I13,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G11:I13,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G11:I13,3,TRUE)

แทนสูตร excel ในแต่ละประเภทผู้ใช้แทนลงในสูตร excel ที่ใช้ในการตรวจสอบเงื่อนไขจะได้สูตร excel คิดค่าไฟฟ้าฐานเป็น

IF(C7 = 1.1 , VLOOKUP(C2,G2:I9,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G2:I9,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G2:I9,3,TRUE) , IF(C7 = 1.2 , VLOOKUP(C2,G11:I13,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G11:I13,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G11:I13,3,TRUE), “”))

นำสูตร excel คิดค่าไฟฟ้า ที่ได้เข้าไปแทนที่สูตร excel 1 ซึ่งตรวจสอบช่อง C2 จะได้สูตร excel สำหรับคิดค่าไฟฟ้าฐานในช่อง D2 ได้ดังนี้

= IF (C2<> “”,IF(C7 = 1.1 , VLOOKUP(C2,G2:I9,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G2:I9,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G2:I9,3,TRUE) , IF(C7 = 1.2 , VLOOKUP(C2,G11:I13,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G11:I13,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G11:I13,3,TRUE), “”)),””)

ผลรวมค่าไฟฟ้าทั้งหมดในช่อง D9 จะใช้สูตร excel ได้ดังนี้

= SUM(D2:D5)

ทดลองสูตร excel กันครับ

สมมุติให้ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวน 160 หน่วย

ค่า ft = 0.2444 บาทต่อหน่วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2

เมื่อป้อนข้อมูลลงในช่อง C2 ,C3, C4, C5 และ C7 จะได้ผลการคิดค่าไฟฟ้าดังแสดงในภาพที่ 3

ผลการคิดค่าไฟฟ้า

ภาพที่ 3 ผลการคิดค่าไฟฟ้า

สูตร excel ใน worksheet นี้ท่านผู้อ่านสามารถใช้นำไปคิดค่าไฟฟ้าได้เลยครับ ซึ่งอาจจะเพิ่มเติมในส่วนของการปัดเศษสตางค์อีกนิดหน่อยก็สมบูรณแล้ว ก็จะทำให้ท่านผู้อ่านพอทราบค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าของครอบครัวของท่านได้ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆก็สามารถนำไปใช้งานได้นะครับ สวัสดีครับ

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้าเพื่อประหยัดไฟฟ้า

การใช้ Excel ในบทความนี้จะนำเสนอการคิดค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีประหยัดไฟฟ้า โดยจะช่วยให้ท่านผู้อ่านทราบถึงสถานะหรือโหลดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเลือกซื้ออุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า แนวความคิดของการคิดค่าไฟฟ้าจะคล้ายกับการคำนวณการใช้น้ำมันของรถยนต์ครับ ซึ่งต้องมีการบันทึกข้อมูลของอุปกรณ์ไฟฟ้า มาดูกันครับว่าหากจะคิดค่าไฟฟ้าเพื่อประหยัดไฟฟ้า จะต้องเก็บข้อมูลอะไรบ้าง

  1. ทำรายการอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน
  2. จดบันทึกกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละรายการ

กำลัง (Power) เป็นการบอกความสามารถในการทำงานของอุกรณ์หรือเครื่องจักรต่อหน่วยเวลา หน่วยเป็น วัตต์ (Watt) อุปกรณ์ในทางวิศวกรรมต้องป้อนกำลังเข้าไปเพื่อให้สามารถทำงานได้ (การเปลี่ยนรูปของพลังงาน) หากเรามองอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นระบบใดๆ จะต้องมีกำลังไฟฟ้าเข้าไปในระบบ โดยระบบจะนำกำลังไฟฟ้าที่เข้าไปเปลียนรูปเป็นพลังงานอื่นๆ เช่น หลอดไฟ ก็เปลี่ยนไปอยู่ในรูปของแสงสว่าง มอเตอร์ก็เปลี่ยนเป็นพลังงานกล เครื่องทำน้ำอุ่นก็เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานความร้อน เป็นต้น โดยนิยามของกำลังเป็นไปดังสมการที่ 1

P = E/t (1)

เมื่อ P คือกำลัง(watt) E คือพลังงาน (J) t คือ เวลา (sec.)

โดยทั่วไปข้อมูลด้านเทคนิคของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ท่านผู้อ่านต้องพิจารณาเมื่อจะซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้ามีดังนี้ครับ

  1. ความต่างศักดิ์
  2. กระแสไฟฟ้า
  3. ความถี่
  4. กำลังไฟฟ้า

ผมขอข้ามข้อ 1,2 และ 3 นะครับมาดูข้อ 4 เลย กำลังไฟฟ้า อธิบายง่ายๆก็คือ ความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยเวลาของอุปกรณ์ไฟฟ้านั่นเอง ดังนั้นหากกำลังไฟฟ้าสูงก็ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากขณะใช้งานซึ่งก็หมายถึงค่าไฟฟ้าของเราที่ต้องจ่ายให้กับการไฟฟ้ามาก ในอีกแง่มุมหนึ่งหมายถึงการไฟฟ้าก็ต้องผลิตพลังงานไฟฟ้ามาจ่ายให้กับผู้ใช้ ซึ่งก็ต้องใช้พลังงานรูปแบบอื่นๆมาเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น พลังงานน้ำ พลังงานจากเชื้อเพลิง เป็นต้น

มาถึงตรงนี้เราก็มีได้ข้อมูลของอุกรณ์ไฟฟ้าทั้ง 2 ข้อแล้ว มาดูกันต่อว่าการคิดค่าไฟฟ้าคิดกันอย่างไร ค่าไฟฟ้าจะคิดจากปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้ไปครับ โดยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้มีหน่วยเป็น หน่วยไฟฟ้าหรือยูนิตครับ ซึ่งจะกำหนดไว้ว่า หนึ่งยูนิต หมายถึง อุปกรณ์ไฟฟ้าทีมีกำลังไฟฟ้า 1,000 W ถูกใช้งานเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง ครับ เขียนเป็นสมการได้ดังสมการที่ 2 ครับ

Unit = 1,000 (watt)* 1 hr = 1 kWh ( kWh อ่านว่า kilo-watt-hour) (2)

1 Unit = 1 kWh

ดังนั้นหากเราต้องการทราบพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในหนึ่งวันภายในบ้านของเรา เราต้องทราบข้อมูล 2 สิ่งคือ กำลังไฟฟ้า และ เวลาที่ใช้งาน โดยคำนวณดังสมการนี้ครับ

พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ต่อวัน (kWh) = Pอุปกรณ์(watt)*จำนวนอุปกรณ์*ชั่วโมงการใช้ต่อวัน/1,000

เอาหล่ะครับมาใช้สูตร excel ช่วยคิดค่าไฟฟ้ากันเลยครับ จะเริ่มจากการสร้างรูปแบบของตารางแสดงรายการอุปกรณ์ไฟฟ้ากันก่อนดังภาพที่ 1 ครับ

คิดค่าไฟฟ้า

ภาพที่ 1 รูปแบบการใช้ excel ก่อนการคิดค่าไฟฟ้า

การใส่สูตร excel เพื่อคิดค่าไฟฟ้า

ในช่อง F2 ให้ท่านผู้อ่านใส่สูตร excel ดังนี้ครับ = C2*D2*E2/1000

จากนั้นก็ copy สูตรการคิดค่าไฟฟ้าไปยังแถวด้านล่างต่อไปจะได้ผลดังแสดงในภาพที่ 2

ประหยัดพลังงาน

ภาพที่ 2 ผลการคิดค่าไฟฟ้าด้วยสูตร excel

พลังงานไฟฟ้าที่คำนวณได้ ท่านผู้อ่านต้องนำไปเทียบกับตารางการคิดค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นการคิดแบบขั้นบันได ต่อไปครับ

ผมมีข้อสังเกตให้ท่านผู้อ่านที่จะใช้สูตร excel ที่นำเสนอเพื่อคิดค่าไฟฟ้า ต้องระมัดระวังนะครับ นั่นคือ กำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะนำมาคำนวณต้องมีหน่วยเป็น watt นะครับ kW ก็ต้องแปลงเป็น watt ด้วยการคูณด้วย 1000 ก่อนป้อนลงใน excel นะครับ ในขณะเดียวกันจะต้องแยกรายการอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีกำลังไฟฟ้าไม่เท่ากันและเวลาที่ใช้อุปกรณ์ไม่เท่ากันด้วยครับ โดยเวลาที่ใช้อุปกรณ์หากข้อมูลที่ได้เป็นหน่วยนาที ก็ต้องแปลงเป็นหน่วยชั่วโมงก่อนโดยการหารด้วย 60 ครับ

ก่อนจะจบบทความนี้นะครับขอฝากวิธีการประหยัดไฟฟ้าวิธีหนึ่งครับ หากท่านสังเกตดูตัวอย่างที่ผมยกมาจะเห็นว่าคอมพิวเตอร์ pc มีกำลังไฟฟ้าถึง 450 W หากท่านผู้อ่านสามารถเปลี่ยนมาใช้ คอมพิวเตอร์ Notebook ซึ่งมีกำลังไฟฟ้าต่ำกว่ามากก็จะช่วยประหยัดไฟฟ้าได้มากเลยครับ วิธีการประหยัดไฟฟ้าแบบนี้เรียกว่า การเลือกอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า นั่นเองครับ และสุดท้ายขอฝากเลือกการเลือกใช้กำลังไฟฟ้าที่เหมาะสม เวลาใช้งานที่เหมาะสม และจำนวนอุปกรณ์ที่เหมาะสม และการคิดค่าไฟฟ้าที่ถูกต้อง จะช่วยให้ท่านสามารถวางแผนการประหยัดไฟฟ้าได้ครับ สวัสดีครับ

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel : ใส่ลำดับเลขอัตโนมัติกรณีรายการแต่ละแถวเรียงกันแบบไม่ต่อเนื่องโดยใช้สูตร excel if

การใช้ excel ในบทความนี้ขอนำเสนอการใช้สูตร excel if ร่วมกับการใช้สูตร excel COUNT สำหรับช่วยในการใส่ลำดับเลขอัตโนมัติกันครับ ก่อนอื่นอยากจะย้อนไปที่บทความ การใช้ excel ใส่ลำดับเลขอัตโนมัติโดยใช้สูตร excel if ซึ่งท่านผู้อ่านจะสังเกตเห็นว่าการใช้สูตร excel ดังกล่าวจะต้องมีสมมุติฐานว่าแถวที่อยู่ด้านบนของแถวข้อมูลซึ่งเราจะใส่ลำดับเลขจะต้องเป็นแถวที่มีข้อมูล มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับการใช้สูตร excel if ของเรา เนื่องจากสูตร excel ไม่สามารถหาผลบวกได้นั่นเอง ดังแสดงในภาพที่ 1 ครับ


ภาพที่ 1 ผลการใช้สูตร excel if เดิม IF(B3 <>"",A2+1,””)

จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นเนื่องจากใน Cells A5 ไม่มีค่าดังนั้นสูตร excel ที่เรากำหนดลงไปจึงไม่สามารถคำนวณค่าได้นั่นเอง วิธีการแก้ปัญหาหากว่ารายการของเรา ไม่ว่าจะเป็นบัญชีรายรับรายจ่าย รายการค่าใช้จ่าย มีความจำเป็นต้องเว้นเป็นบางบรรทัดแบบนี้เราจะใช้สูตร excel COUNT มาช่วยในการนับจำนวนแถวที่เป็นตัวเลขครับโดยรูปแบบของสูตร excel เป็นดังนี้ครับ

COUNT(value1,value2,….) โดยสูตร excel COUNT จะคืนจำนวนเซลล์ที่มีค่าเป็นตัวเลขกลับคืนมาให้

เรามาปรับการใช้สูตร excel กันใหม่ดังนี้ครับ

IF(B3<>””,COUNT($A$2:A2)+1,””)

$A$2 เป็นการกำหนดจุดเริ่มต้นในการนับจำนวนแถว

ทำการ copy สูตร excel ใน A3 ลงไปให้ครอบคลุมช่วงใช้งานในหลัก A ครับ

ผลการใช้สูตร excel if เป็นไปดังภาพที่ 2 ครับ


ภาพที่ 2 ผลการแก้ไขสูตร excel if

จากบทความทั้งสองหัวข้อ ผมตั้งใจชี้ให้เห็นว่าการเลือกใช้สูตร excel ที่เหมาะสมจะช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานของผู้ใช้งาน excel ลงได้ครับ ทิ้งท้ายหากเราเลือกใช้สูตร excel COUNTA ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรฝากท่านผู้อ่านไปทดลองดูนะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel : การใส่ลำดับเลขแบบอัตโนมัติด้วยการใช้สูตร excel if

การใช้ excel ในบทความนี้จะนำเสนอวิธีการใส่ลำดับเลขแบบอัตโนมัติใน excel ท่านผู้อ่านคงจะพบปัญหาหนึ่งในการบันทึกข้อมูลลงใน excel ไม่ว่าจะเป็นรายการค่าใช้จ่ายลงในบัญชีรายรับรายจ่าย การประเมินผล kpi หรือการบันทึกรายการ ซึ่งทุกครั้งในการบันทึกรายการในแต่ละบรรทัดจะต้องป้อนลำดับเลขรายการลงไปด้วยดังแสดงในภาพที่ 1

ตัวอย่างการใช้สูตร excel if

ภาพที่ 1 ตัวอย่างการบันทึกรายการค่าใช้จ่าย

หากเรามีรายการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การป้อนลำดับเลขทุกครั้งในการเพิ่มรายการจะเป็นการทำงานซ้ำซ้อน ดังนั้นหากสามารถใส่ลำดับเลขแบบอัตโนมัติได้จะเป็นการลดการทำงานซ้ำซ้อนได้มากและรวมถึงความผิดพลาดในการเพิ่มลำดับเลข จากปัญหาดังกล่าว เราสามารถใช้ excel แก้ปัญหานี้ได้ โดยการใส่สูตร excel การใช้สูตร excel if เป็นตัวเลือกในการแก้ปัญหานี้ครับ เรามาดูแนวคิดการใช้สูตร excel if กันเลยครับ

จากภาพที่ 1 หากต้องการเพิ่มหมายเลขลำดับแบบอัตโนมัติอันดับแรกจะต้องตรวจสอบข้อมูลใน หลัก C โดยหากข้อมูลหลัก C ไม่ว่างก็ให้บวกลำดับเลขก่อนหน้านี้ด้วย 1 เอาหล่ะครับ เรามาดูการใส่สูตร excel กันเลยครับ

ก่อนอื่นจะต้องกำหนดค่าลำดับเลขในแถวที่ สองก่อน จากนั้นใน Cells A3 จะใส่สูตร excel ได้ดังนี้

= IF(C3 <> “” , A2 + 1 , “”)

ให้ท่านผู้อ่าน Drag ลาก copy สูตร ใน Cells A3 ลงไปให้ครอบคลุมตามจำนวนแถวที่คาดว่าจะเพียงพอกับการใช้งาน เป็นการสิ้นสุดการใส่สูตร excel if เพื่อเพิ่มลำดับเลขอัตโนมัติ

ก็หวังว่าเทคนิคนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านลดความซ้ำซ้อนในการทำงานกับ excel ลงได้นะครับ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ blog ของเรายังมีบทความเกี่ยวกับการใช้ excel, การใส่สูตร excel หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับสวัสดีครับ กรณีข้อมูลรายการไม่ต่อเนื่องกันสูตร excel ที่นำเสนอในบทความนี้จะเกิดความผิดพลาด ต้องใช้สูตร excel COUNT เข้ามาช่วยแก้ปัญหาครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

การคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน โดยใช้สูตร Excel if

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel ช่วยวิเคราะห์อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันของรถยนต์ (Fuel Consumption)

การใช้ excel ในบทความนี้จะนำเสนอการใส่สูตร excel เพื่อช่วยวิเคราะห์อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันของรถยนต์กันครับ การคำนวรอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเป็นวิธีประหยัดน้ำมันวิธีหนึ่ง หากเราสามารถคำนวณหาอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันหรือเชื้อเพลิงของรถเราได้ ข้อมูลที่ได้สามารถนำไปวิเคราะห์ประสิทธิภาพเครื่องยนต์ของเราได้ ซึ่งหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้ทำการซ่อมหรือแก้ไขให้อยู่ในสภาพปกติ อีกด้านหนึ่งของการทราบอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันก็ช่วยวางแผนการเดินทางเพื่อประหยัดน้ำมันในแต่ละเดือนของเราได้ ทำให้สามารถวางแผนการใช้จ่ายในบัญชีรายรับรายจ่ายของเราได้ดีมากขึ้น มาดูวิธีการคำนวณกันครับ เริ่มจากการจดบันทึกครับ สมมุติระดับน้ำมันดังภาพที่ 1

การใส่สูตร excel

ภาพที่ 1 ระดับน้ำมันเชื้อเพลิง

เมื่อต้องการคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง จะเริ่มจากเมื่อรถยนต์มีน้ำมันในระดับที่ 1 ให้นำรถยนต์เข้าไปเติมน้ำมันให้เต็มถังในสภาวะที่ 2 ในสภาวะนี้ให้ผู้ใช้รถยนต์บันทึกเลขไมล์ระยะทางการใช้ ณ เวลานั้น ผมกำหนดให้เป็นค่า D1 (หากเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ๆอาจจะมีตัวเลือก Set zero เพื่อวัดระยะทางการใช้ในแต่ละครั้ง) จากนั้นผู้ใช้ก็นำรถยนต์ไปใช้งานตามปกติครับจนกระทั่งถึงเวลาที่ต้องเติมน้ำมันอีกครั้ง สมมุติว่าระดับน้ำมันอยู่ในสภาวะที่ 3 เมื่อน้ำรถยนต์เข้าปั๊มน้ำมันอีกครั้งให้ท่านผู้ใช้รถยนต์บันทึกเลขไมล์ระยะทางการใช้ ณ เวลานั้น ผมกำหนดให้เป็นค่า D2 จากนั้นให้ท่านเติมน้ำมันจนเต็มถังอีกครั้งหนึ่ง เราจะทราบปริมาณของการใช้น้ำมันครั้งที่ผ่านได้ โดยปริมาณน้ำมันที่ใช้จะเท่ากับขนาดของแท่งสีเขียวในสภาวะที่ 4 นั่นเอง ปริมาณน้ำมันที่ใช้ผมจะกำหนดให้เป็นค่า V ดังนั้นเราสามารถคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันของรถยนต์ได้ตามสมการที่ 1 ครับ

อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันหรือเชื้อเพลิง = (D2-D1) /V (1)

หน่วยเป็น กิโลเมตรต่อลิตร

จากที่ได้อธิบายมาเราสามารถใช้ excel ช่วยในการคำนวณได้ โดยการใส่สูตร excel มาดูกันเลยครับ

เนื่องจากในการเติมน้ำมันแต่ละครั้งท่านผู้อ่านอาจจะเติมน้ำมันเชื้อเพลิงต่างชนิดกัน ดังนั้น การใส่สูตร excel ของผมจะคำนึงถึงชนิดของน้ำมันด้วยครับ สมมุติว่าเราจะเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแค่ 2 ชนิดคือ โซล์ฮอล์ 95 และ 91 ดังนั้นเราจะใช้การใส่สูตร excel if มาช่วยในการคัดกรองชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงกันครับ มาดูการใส่สูตร excel ของเรากันเลยครับ ดังภาพที่ 2

การใส่สูตร excel-1

ภาพที่ 2 ผลการคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองพลังงาน

หากท่านผู้อ่านจดบันทึกการใช้เชื้อเพลิงของรถท่านอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถประมาณการใช้เชื้อเพลิงของรถเราได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของการประหยัดน้ำมันและส่งผลต่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในปัจจุบันด้วยครับ สิ่งสำคัญหากเรามีข้อมูลค่าอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานของรถยนต์เราอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทำให้เราวิเคราะห์สมรรถนะของรถยนต์เราได้ รวมถึงการสึกหรอของเครื่องยนต์ซึ่งส่งผลให้อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงขึ้น โดยการวิเคราะห์สมรรถนะของรถยนต์ด้านการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เราสามารถใช้ Box plot มาช่วยในการวิเคราะห์ได้ แน่นอนเราสามารถใช้การใส่สูตร excel และการพล็อตกราฟใน excel มาใช้สร้าง Box plot ได้ ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel : การใช้สูตร excel if ใน vba

การใช้ Excel ในบทความนี้จะเป็นบทความต่อจากการใช้คำสั่งควบคุม For…Next และ Do While….Loop จากที่ได้กล่าวไว้ก่อนจบบทความที่ผ่านมา หากมีเงื่อนไขให้หาผลรวมเฉพาะค่าใน Cells ที่เป็นบวกเท่านั้น หากกล่าวถึงเงื่อนไข ใน excel เราจะพบการใช้สูตร excel if เข้ามาช่วยในการจัดการโดย สูตร excel if มีรูปแบบดังนี้

IF(condition,value if true,value if false) ซึ่งท่านผู้อ่านจะพบว่าสูตร excel if จะตรวจสอบเงื่อนไขก่อน เพื่อแยกดำเนินการตามเงื่อนไขจริงหรือเท็จ ดังนั้น ในการใช้สูตร if ใน vba ก็จะมีรูปแบบคล้ายกัน มาดูโค้ดกันเลยครับ

dim sum as double

for i = 1 to 3

sum = 0

for j = 1 to 3

if Cells(i,j) > 0 then sum = sum + Cells(i,j)

next j

Cells(i,j) = sum

next i

ลอง รันมาโคร ดูครับ

จะได้ผลลัพธ์ดังภาพที่ 1

การใช้สูตร excel ifภาพที่ 1 ผลการรันมาโคร การใช้สูตร if

รูปแบบของสูตร if มีสามรูปแบบดังนี้

กรณีมีสองเงื่อนไขและต้องดำเนินการทั้งสองเงื่อนไข

If (condition) then

‘หากเงื่อนไขสูตร if เป็นจริง

else

‘หากเงื่อนไขสูตร if เป็นเท็จ

endif

กรณีมีหลายเงื่อนไข

If (condition) then

‘หากเงื่อนไขสูตร if เป็นจริง

elseif (condition) then

‘หากเงื่อนไขสูตร elseif เป็นเท็จ

else

‘หากเงื่อนไขสูตร if เป็นเท็จ

endif

กรณีมีสองเงื่อนไขและต้องดำเนินการทั้งสองเงื่อนไข

If (condition) then ‘หากเงื่อนไขสูตร if เป็นจริง

ฝากไว้ให้ท่านผู้อ่านลองไปปรับแก้ดูนะครับ หากเพิ่มเงื่อนไขให้หาผลรวมของค่าที่เป็นบวกและค่าที่เป็นลบในแต่ละแถว เราจะต้องเขียนสูตร excel if อย่างไร เอาหล่ะครับจากสามบทความที่นำเสนอมา คิดว่าท่านผู้อ่านคงมีพื้นฐานการเขียนมาโครมาระดับหนึ่งแล้วนะครับ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงข้อมูลใน Cells การบันทึกข้อมูลใน Cells การใช้คำสั่งควบคุมเพื่อท่องไปใน Cells ต่างๆเพื่อจัดการข้อมูล การใช้คำสั่ง IF เพื่อจัดการข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นครับ ในบทความต่อๆไปท่านผู้อ่านจะเห็นตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในการใช้งาน excel เพิ่มขึ้นเรื่อยๆครับ หากไม่เข้าใจก็ขอให้ย้อนกลับมาอ่านสามบทความนี้ครับ สวัสดีครับ

สุดท้ายเฉลยโจทย์ที่ฝากไว้ครับ มาดูการใช้สูตร excel if กันเลย

dim sum_pos as double

dim sum_nag as double

for i = 1 to 3

sum_pos = 0

sum_nag = 0

for j = 1 to 3

if Cells(i,j) >= 0 then

sum_pos = sum_pos + Cells(i,j)

else

sum_nag = sum_nag + Cells(i,j)

endif

next j

Cells(i,j) = sum_pos

Cells(i,j+1) = sum_nag

next i

วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel : Reading and writing data from Cells (2)

การใช้ excel ตอนนี้จะต่อจากบทความเรื่อง การใช้ excel : Reading and writing data from Cells in vba ครับ บทความนี้จะมาว่าถึงการใช้ คำสั่งควบคุมใน vba excel ในการเข้าถึงข้อมูลในเซลล์ครับ โดยจะใช้ฟังก์ชัน Cells กันครับ

คำสั่งควบคุมคำสั่งแรกที่ใช้ก็คือ For…Next มีรูปแบบการใช้งานดังนี้ครับ

For initial value To End value Step stepvalue

‘Do some thing

Next

สมมุติผมมีข้อมูลใน worksheet ดังภาพที่ 1 ครับ หากต้องการหาผลบวกในแต่ละแถวต้องทำอย่างไร หากคิดแบบมนุษย์ก็คงคิดได้ดังนี้ครับ เข้าไปอ่านค่าในเซลล์ที่ 1 และหาผลบวกรวมจนสิ้นสุดที่เซลล์ C1 จากนั้นนำผลลัพธ์ที่ได้ไปแสดงที่เซลล์ D1 จากนั้นก็ดำเนินการในแถวที่ 2 และ 3 ในทำนองเดียวกัน

จะเห็นว่าเป็นการคำนวณแบบซ้ำๆกัน แบบนี้เราสามารถใช้ For…Next ได้ ไปดูโค้ดใน vba กันครับ

Dim sum As Integer

For i = 1 To 3 Step 1

sum = 0 ‘กำหนดให้ตัวแปร sum เป็นศูนย์ทุกครั้งที่ขึ้นแถวใหม่

For j = 1 To 3 Step 1 ‘ท่องไปตามหลักต่างๆ ตั้งแต่ A-C

sum = sum + Cells(i,j)

Next j

Cells(i,j) = sum ‘แสดงผลลัพธ์ในเซลล์ Di

Next i

การใช้ Excel ภาพที่ 1 ข้อมูลใน excel

ผลการคำนวณด้วย vba excel ครับ

ผลการใช้ excel

ภาพที่ 2 ผลการคำนวณใน excel

จากตัวอย่างท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในปัญหานี้เราทราบจำนวนของข้อมูลที่แน่นอนดังนั้น For..next จึงใช้งานได้ง่าย ปัญหาคือหากเราไม่ทราบจำนวนของข้อมูลที่ต้องการคำนวณแต่เราทราบจุดเริ่มต้นของชุดข้อมูลดังกล่าว คำสั่ง Do While…Loop เป็นตัวเลือกที่ดีในการใช้งาน excel ครับมาดูโค้ดใน vba excel กันเลย

Dim sum As Integer
j = 1
i = 1
Do While Cells(i, j) <> ""
sum = 0
Do While Cells(i, j) <> ""
sum = sum + Cells(i, j)
j = j + 1
Loop
Cells(i, j) = sum
i = i + 1
j = 1
Loop

จากโค้ดเราจะพบว่าการตรวจสอบการสิ้นสุดของข้อมูลจะใช้การอ่านข้อมูลโดยหากข้อมูลใน Cells เป็นค่าว่างก็แสดงว่าสิ้นสุดข้อมูลแล้วครับ ท่านผู้อ่านสามารถเก็บจำนวนของข้อมูลได้โดยการเก็บข้อมูลจากค่า j ในแต่ละครั้งครับซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการหาค่าเฉลี่ยของข้อมูลในแต่ละแถวได้ครับ

จากที่ผมได้นำเสนอไปเป็นตัวอย่างที่นำเสนอการควบคุมการท่องเข้าไปอ่านข้อมูลและบันทึกข้อมูลใน Cells แบบง่ายๆครับ ในบทความต่อไปผมจะนำเสนอการควบคุมการท่องเข้าไปอ่านและบันทึกให้ซับซ้อนขึ้นครับ หากมีเงื่อนไขในการหารวมในแต่ละแถวว่า ตัวเลขที่เป็นค่าลบจะไม่นำมาคำนวณด้วย เราจะใช้คำสั่งควบคุมตัวไหนมาช่วยครับ การใช้สูตร excel if คำตอบนี้ครับ แล้วพบกันตอนหน้าครับ สวัสดีครับ

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com