วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel ช่วยคำนวณด้านการเงิน : เงินฝากประจำแบบพิเศษ

การใช้ excel ในบทความนี้จะขออธิบายการคำนวณการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงิน ดอกเบี้ย ซักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจ การเงิน หากกล่าวถึง การเงิน เรื่องพื้นฐานที่ต้องทราบก็คือ ค่าเงินปัจจุบัน ค่าเงินอนาคต ซึ่งการคำนวณการเงินดังกล่าวจะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเงิน นั่นคืออัตราดอกเบี้ย และเวลา นั่นเองครับ เงิน 100 บาทในวันนี้หากนำไปฝากธนาคารอีก 2 ปี ค่าเงินก็จะเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อนั่นเองครับ เรามาดูพื้นฐานการคำนวณด้านการเงินกันก่อนครับ ในบทความนี้เราจะกำหนดค่าเงินไว้ 2 ประเภทคือ ค่าเงินในปัจจุบัน และค่าเงินในอนาคต โดยจะแทนด้วยตัวแปร PV และ FV อัตราดอกเบี้ยต่อปีจะแทนด้วย R และเวลาเป็นปีจะแทนด้วย n ครับ มาดูการคิดค่าเงินกันเลยครับ

สมมุติมีเงินในปัจจุบัน PV บาท นำไปฝากธนาคาร ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก R% ต่อปี ดังนั้นหนึ่งปีถัดไปค่าเงินในอนาคตที่หนึ่งปีจะมีค่าเท่ากับ PV*(1+R%) เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ค่าเงินในอนาคตจะมีค่าเท่ากับ

เงินต้นปีที่ 1 *(1+R%) = PV*(1+R%)*(1+R%) = PV(1+R%)^2

ดังนั้นจากความสัมพันธ์ดังกล่าว เราสามารถคำนวณค่าเงิน ณ ปีที่ n ได้เท่ากับ

FV = PV*(1+R%)^n

ในทำนองเดียวกันเราก็สามารถใช้ความสัมพันธ์นี้คำนวณย้อนกลับได้เพื่อหาค่าเงินในปัจจุบันหากเราต้องการมีเงินในอนาคต สามารถเขียนได้เป็น

PV = FV/(1+R%)^n

จะสูตรคำนวณค่าเงินที่ได้นำเสนอมาเราสามารถใช้ excel ช่วยในการคำนวณได้อย่างไม่ยากนัก มาดูกันต่อครับ ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่จะมีบริการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทพิเศษซึ่งดอกเบี้ยจะไม่ถูกหักเป็นภาษีเงินได้ครับ นั่นคือบัญชีเงินฝากลักษณะที่ต้องฝากประจำทุกเดือนเดือนละเท่าๆกัน จนครบระยะเวลาที่กำหนดครับ ซึ่งธนาคารจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วๆไป เรามาดูกันครับว่ามีวิธีการคิดอย่างไร โดยเราจะใช้สูตรการคำนวณการเงินดังที่ได้นำเสนอมาครับ โดยมีแนวคิดของการฝากสะสมทุกเดือนว่า เงินต้นรวมดอกเบี้ยของเดือนที่ผ่านมาจะเป็นเงินต้นของเดือนปัจจุบัน เอาหล่ะครับมาดูแบบฟอร์มการใช้ excel กันก่อนเลยครับ

การเงิน

ภาพที่ 1 แบบฟอร์มการใช้ excel คำนวณค่าเงินในอนาคต

จากภาพที่ 1 เป็นการคำนวณค่าเงินฝากในอนาคตสิ้นสุดเดือนที่ 12 ของการฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1000 บาท โดยในหลัก F เป็นค่าเงินในอนาคตที่สิ้นสุดทุกๆปลายเดือนซึ่งจำคำนวณได้ด้วยสูตร FV = PV*(1+R%/12) ครับ เนื่องจากระยะเวลาห่างกันเท่ากับ 1 เดือน จากนั้นเงินต้นของเดือนถัดมาก็จะถูกคำนวณโดยใช้สูตร excel เช่น

ใน E2 = F1 + $E$1

สุดท้ายก็จะได้ค่าเงินในอนาคตเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 12 ดังภาพที่ 1 ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าการคำนวณตามแบบฟอร์มการใช้ excel ดังกล่าว ค่าอัตราดอกเบี้ยในแต่ละเดือนไม่จำเป็นต้องเท่ากัน (ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน อัตราดอกเบี้ยมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด) แต่หากอัตราดอกเบี้ยมีค่าเท่ากันตลอดระยะเวลาที่ฝาก ก็สามารถใช้สูตร excel ด้านการเงินช่วยคำนวณได้เลย โดยรูปแบบของสูตร excel มีดังนี้

FV(rate,nper,pmt,[pv],[type])

ในกรณีของตัวอย่างการคิดค่าเงินในอนาคตสามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้

FV(4%/12,12,-1000,0,1) จะได้ค่าเงินฝากในอนาคตเดือนที่ 12 เท่ากัน แต่หากใช้สูตร

FV(4%/12,12,-1000,0,0) จะได้ค่าเงินฝากเฉพาะเงินต้นในเดือนที่ 12 ครับ

จากบทความนี้ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประมาณการด้านการเงินในกรณีการฝากเงินของทุกท่านได้ครับ ทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งครับ การกู้เงินถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนครับ ดังนั้นการคำนวณเงินกู้ก็จะเป็นไปในทำนองคล้ายกันครับ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com