วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ตารางช่วยคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้เพื่อการบริโภค (Consumer loans Table)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ช่วงนี้หลายท่านประสบปัญหาอุทกภัยทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆสำหรับการฟื้นฟูชีวิตและทรัพย์สิน การขอสินเชื่อเพื่อการบริโภคเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับท่านที่มีเงินเก็บหรือเงินสำรองไม่พอ หรืออาจจะไม่มีทรัพย์สิน ทั้งนี้การเลือกแหล่งให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละท่านก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาคือ เงินต้นที่ต้องการ ระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ บทความนี้เราจะนำเสนอการใช้ excel สร้างตารางเพื่อช่วยคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้ ซึ่งจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถประมาณการได้เมื่อต้องไปติดต่อขอสินเชื่อเงินกู้กับแหล่งให้สินเชื่อ ก่อนอื่นมาดูองค์ประกอบของตารางช่วยคำนวณสินเชื่อก่อนครับ โดยเราจะคิดยอดการผ่อนชำระสินเชื่อหรือเงินกู้ที่เงินต้น 1,000 บาท โดยกำหนดให้แถวที่สองในแนวนอนของตารางเป็นจำนวนเดือนในการผ่อนชำระเงินกู้หรือสินเชื่อ หลักแรกของตารางเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสินเชื่อต่อปี ครับ ดังแสดงในภาพที่ 1

ตารางคำนวณเงินกู้

ภาพที่ 1 รูปแบบตารางคำนวณเงินกู้หรือสินเชื่อ

การใช้สูตร excel ช่วยคำนวณ เราจะใช้สูตร excel : PMT และ ABS ช่วยคำนวณครับ โดย PMT เป็นสูตรช่วยคำนวณหายอดการผ่อนชำระเงินกู้ ABS ช่วยแปลงผลลัพธ์การคำนวณจากสูตร PMT ให้มีค่าเป็นบวก ดังนั้นที่ CELL B3 เราจะคำนวณยอดการผ่อนชำระเงินกู้ได้โดยการเขียนสูตร excel ดังนี้

= ABS(PMT($A3/12,B$2,1000,0,0))

เราสามารถ drag สูตร excel ดังกล่าวครอบคลุมทั้งตารางจะได้ตารางช่วยคำนวณเงินกู้หรือสินเชื่อดังแสดงในภาพที่ 2

ตารางคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้

ภาพที่ 2 ตารางช่วยคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้ (เงินต้น 1,000 บาท)

จากภาพที่ 2 หากท่านต้องการเงินกู้ 20,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ย 28% ต่อปี ระยะเวลาการผ่อนชำระ 24 เดือน ท่านจะต้องผ่อนชำระกับแหล่งสินเชื่อเงินกู้เท่ากับ (20,000/1,000)x54.89 = 1,097.77 บาทต่อเดือน

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าหากสร้างตารางคำนวณสินเชื่อหรือเงินกู้แล้วทำการพิมพ์ใส่กระดาษเก็บไว้ ท่านผู้อ่านก็จะสามารถคำนวณหายอดผ่อนชำระเงินกู้หรือสินเชื่อได้ทันทีทุกที่ เพราะจากตัวอย่างการคำนวณสินเชื่อท่านผู้อ่านจะเห็นว่าเราเพียงใช้โทรศัพท์มือถือธรรมดาๆก็สามารถคำนวณสินเชื่อให้ท่านผู้อ่านได้แล้วครับ อย่าลืมหลักการขอสินเชื่อของท่านให้ดีนะครับ ยอดผ่อนชำระเงินกู้จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เรามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ครับ สวัสดีครับ

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รูปแบบของการประกันชีวิตที่ควรทราบ (insurance format)

ในบทความนี้จะขอนำเสนอรูปแบบของการประกันชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านเวลามีผู้มานำเสนอขายประกัน หลังจากที่นำเสนอแนวคิดการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินไปแล้ว ในบทความนี้จะขอนำเสนอลักษณะการให้ความคุ้มครองรวมถึงเบี้ยประกันภัยของการประกันชีวิตแบบต่างๆ เพื่อช่วยพิจารณาเลือกรูปแบบการประกันชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของท่านผู้อ่านเอง โดยขอแบ่งรูปแบบการประกันชีวิตไว้เป็น 4 รูปแบบดังนี้

1. การประกันแบบรายได้ประจำ (Annuity insurance) เป็นการประกันที่บริษัทประกันภัยจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เอาประกันเป็นงวดๆเมื่อผู้ทำประกันออกจากงานหรือเกษียณอายุหรือเมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบกำหนดตามสัญญา การประกันชีวิตแบบรายได้ประจำเหมาะสำหรับ

  1. บุคคลที่ประกอบอาชีพที่สามารถหารายได้ได้มากตอนอายุน้อย เช่นนักกีฬา
  2. บุคคลที่ทำงานในหน่วยงานที่ไม่มีกองทุนสำหรับการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ
  3. บุคคลที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเอง

2. การประกันแบบตลอดชีพ (Whole life insurance) เป็นการประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รับผลประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตหรือจะจ่ายเงินชดเชยให้เมื่อผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนอายุครบ 99 ปี การประกันชีวิตแบบนี้จะมีวิธีการจ่ายเบี้ยประกัน 3 วิธี คือ

  1. จ่ายครั้งเดียว
  2. จ่ายเป็นงวดๆไปตลอดชีวิต
  3. จ่ายเป็นงวดๆในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นจ่ายเป็นงวดๆเป็นเวลา 10 ปี 20 ปี หลังจากนั้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันแต่ผู้เอาประกันยังได้รับความคุ้มครอง

การประกันชีวิตแบบตลอดชีพเหมาะสำหรับ

  1. ผู้มีรายได้ปานกลางถึงมาก
  2. ต้องการความคุ้มครองในระยะยาว
  3. ต้องการความคุ้มครองในวงเงินค่อนข้างสูง
  4. ต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่ครอบครัว

3. การประกันแบบชั่วระยะเวลา คือการประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รับผลประโยชน์ ในกรณีทีผู้เอาประกันเสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเท่านั่น กล่าวคือหากผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาผู้เอาประกันจะไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด การประกันชีวิตแบบนี้เบี้ยประกันค่อนข้างต่ำ เหมาะสำหรับ

  1. บุคคลมีรายได้น้อย
  2. บุคคลที่ต้องการความคุ้มครองในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือนักท่องเที่ยวที่มักเดินทางไปตามที่ต่างๆ
  3. บุคคลที่ต้องการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว

4. การประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นการประกันที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้รับผลประโยชน์ในกรณีผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือจะจ่ายเงินให้กับผู้เอาประกันในกรณีที่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่จนครบกำหนด โดยผู้เอาประกันจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันภัยภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 10 ปี 25 ปี โดยการประกันชีวิตแบบนี้ถือเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง โดยเหมาะสำหรับ

  1. บุคคลมีรายได้ปานกลางถึงมาก
  2. ต้องการความคุ้มครองในระยะยาว
  3. ต้องการสะสมเงินไว้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ

จะเห็นว่ารูปแบบของการประกันชีวิตมีให้เลือกหลายรูปแบบให้ผู้เอาประกันเลือกในการจัดการความเสี่ยง ในบทความต่อไปจะขอนำเสนอประโยชน์ในทางตรงและทางอ้อมของการทำประกันชีวิตให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบต่อไปครับ สวัสดีครับ

วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การจัดการความเสี่ยง ด้วยการประกันภัย(insurance)

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่า ภาวะน้ำท่วมเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนไม่คาดคิดว่าจะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เรามาดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเรากันครับ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก็เช่น ความพิการ ความตาย การสูญเสียทรัพย์สินและรายได้ เป็นต้น ไม่มีใครจะทราบได้ว่าเราจะประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตเมื่อใด จะตกงานหรือจะโดนไล่ออกตอนไหน (ขณะนี้มีบางบริษัทก็จ่ายเงินช่วงหยุดงานลดลง หรือไม่จ่ายเลยก็เป็นได้ตามกฎหมาย) โดยทั่วไปวิธีในการจัดการความเสี่ยง 4 วิธี ได้แก่

  1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หมายถึง การหลีกเลี่ยงไม่ทำในสิ่งที่จะทำให้เกิดเสี่ยง เช่น หากว่ายน้ำไม่เป็นก็ควรจะอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมเป็นต้น วิธีการจัดการดังกล่าวเป็นวิธีจัดการที่ง่ายแต่มีข้อจำกัด เนื่องจากทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะความตาย
  2. การลดความเสี่ยง เป็นการลดความเสียหายที่เกิดจากความเสี่ยงนั้นลง เช่นหากกังวลเรื่องการเจ็บป่วยเราก็ควรจะทำการตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ
  3. การยอมรับความเสี่ยง คือการที่เรายอมรับความเสี่ยงไว้เอง เห็นได้ชัดเช่น ความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมที่เราประสบ คนส่วนใหญ่คิดว่าน้ำท่วมมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก จึงยอมรับความเสี่ยงไว้เอง
  4. การโอนความเสี่ยง คือการโอนความเสี่ยงไปให้กับคนอื่น โดยการโอนความเสี่ยงสามารถโอนให้กับบุคคลได้ 2 กลุ่ม เช่น บริษัทประกันภัย หรือบุคคลอื่นที่มิใช่บริษัทประกันภัย อย่างไรก็ดีการโอนความเสี่ยงให้กับบุคคลอื่นก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นบริษัทประกันภัย จะเรียกว่า เบี้ยประกันภัย แต่หากเป็นกล่มที่มิใช่บริษัทประกันภัยจะเรียกว่า คู่สัญญาในการทำสัญญา โดยทั่วไปแล้ว บุคคลทั่วไปนิยมโอนความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันภัย

ครับจากที่ได้กล่าวมาแล้วท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าการจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการโอนความเสี่ยงให้กับบุคคลอื่น ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นบริษัทประกันภัย การประกันภัยมีหลายรูปแบบ เช่นการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ ซึ่งเราทุกคนมีความจำเป็นต้องจัดการความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับเรา เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้คงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นความจำเป็นของการประกันภัยครับ เพราะเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินเยอะมากเหลือเกิน

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com