วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตัวอย่าง kpi : ค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน (Energy cost)

ตัวอย่าง kpi ในบทความนี้จะขอนำเสนอตัวชี้วัด kpi ด้านต้นทุน (Cost KPI) โดยตัวชี้วัด kpi ที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานสำหรับการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เรามาดูรายละเอียดของตัวชี้วัด kpi นี้กันครับ
จุดประสงค์ของการใช้ตัวชี้วัด kpi : เพื่อใช้วัดค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานในการผลิตสินค้า โดยพลังงานที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่จะเป็น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน
ข้อมูลนำเข้า
  1. Energy cost คือค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน
  2. ปริมาณการผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์
การคำนวณ
Energy cost =ค่าใช้จ่ายการใช้พลังงาน/ปริมาณการผลิตสินค้า
หน่วยของตัวชี้วัด kpi : บาทต่อกิโลกรัมสินค้า หรือ บาทต่อตันสินค้า
รายงานการประเมินผลตัวชี้วัด kpi
ควรรายงานเป็นสัปดาห์เพื่อให้ทราบและติดตามแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจแยกเป็นแต่ละแผนก

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel ช่วยคำนวณด้านการเงิน : เงินฝากประจำแบบพิเศษ

การใช้ excel ในบทความนี้จะขออธิบายการคำนวณการเงิน ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงิน ดอกเบี้ย ซักเล็กน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่สนใจ การเงิน หากกล่าวถึง การเงิน เรื่องพื้นฐานที่ต้องทราบก็คือ ค่าเงินปัจจุบัน ค่าเงินอนาคต ซึ่งการคำนวณการเงินดังกล่าวจะมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเงิน นั่นคืออัตราดอกเบี้ย และเวลา นั่นเองครับ เงิน 100 บาทในวันนี้หากนำไปฝากธนาคารอีก 2 ปี ค่าเงินก็จะเปลี่ยนไปตามอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับค่าเงินเฟ้อนั่นเองครับ เรามาดูพื้นฐานการคำนวณด้านการเงินกันก่อนครับ ในบทความนี้เราจะกำหนดค่าเงินไว้ 2 ประเภทคือ ค่าเงินในปัจจุบัน และค่าเงินในอนาคต โดยจะแทนด้วยตัวแปร PV และ FV อัตราดอกเบี้ยต่อปีจะแทนด้วย R และเวลาเป็นปีจะแทนด้วย n ครับ มาดูการคิดค่าเงินกันเลยครับ

สมมุติมีเงินในปัจจุบัน PV บาท นำไปฝากธนาคาร ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก R% ต่อปี ดังนั้นหนึ่งปีถัดไปค่าเงินในอนาคตที่หนึ่งปีจะมีค่าเท่ากับ PV*(1+R%) เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ค่าเงินในอนาคตจะมีค่าเท่ากับ

เงินต้นปีที่ 1 *(1+R%) = PV*(1+R%)*(1+R%) = PV(1+R%)^2

ดังนั้นจากความสัมพันธ์ดังกล่าว เราสามารถคำนวณค่าเงิน ณ ปีที่ n ได้เท่ากับ

FV = PV*(1+R%)^n

ในทำนองเดียวกันเราก็สามารถใช้ความสัมพันธ์นี้คำนวณย้อนกลับได้เพื่อหาค่าเงินในปัจจุบันหากเราต้องการมีเงินในอนาคต สามารถเขียนได้เป็น

PV = FV/(1+R%)^n

จะสูตรคำนวณค่าเงินที่ได้นำเสนอมาเราสามารถใช้ excel ช่วยในการคำนวณได้อย่างไม่ยากนัก มาดูกันต่อครับ ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่จะมีบริการเปิดบัญชีเงินฝากประเภทพิเศษซึ่งดอกเบี้ยจะไม่ถูกหักเป็นภาษีเงินได้ครับ นั่นคือบัญชีเงินฝากลักษณะที่ต้องฝากประจำทุกเดือนเดือนละเท่าๆกัน จนครบระยะเวลาที่กำหนดครับ ซึ่งธนาคารจะให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วๆไป เรามาดูกันครับว่ามีวิธีการคิดอย่างไร โดยเราจะใช้สูตรการคำนวณการเงินดังที่ได้นำเสนอมาครับ โดยมีแนวคิดของการฝากสะสมทุกเดือนว่า เงินต้นรวมดอกเบี้ยของเดือนที่ผ่านมาจะเป็นเงินต้นของเดือนปัจจุบัน เอาหล่ะครับมาดูแบบฟอร์มการใช้ excel กันก่อนเลยครับ

การเงิน

ภาพที่ 1 แบบฟอร์มการใช้ excel คำนวณค่าเงินในอนาคต

จากภาพที่ 1 เป็นการคำนวณค่าเงินฝากในอนาคตสิ้นสุดเดือนที่ 12 ของการฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1000 บาท โดยในหลัก F เป็นค่าเงินในอนาคตที่สิ้นสุดทุกๆปลายเดือนซึ่งจำคำนวณได้ด้วยสูตร FV = PV*(1+R%/12) ครับ เนื่องจากระยะเวลาห่างกันเท่ากับ 1 เดือน จากนั้นเงินต้นของเดือนถัดมาก็จะถูกคำนวณโดยใช้สูตร excel เช่น

ใน E2 = F1 + $E$1

สุดท้ายก็จะได้ค่าเงินในอนาคตเมื่อสิ้นสุดเดือนที่ 12 ดังภาพที่ 1 ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าการคำนวณตามแบบฟอร์มการใช้ excel ดังกล่าว ค่าอัตราดอกเบี้ยในแต่ละเดือนไม่จำเป็นต้องเท่ากัน (ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน อัตราดอกเบี้ยมีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด) แต่หากอัตราดอกเบี้ยมีค่าเท่ากันตลอดระยะเวลาที่ฝาก ก็สามารถใช้สูตร excel ด้านการเงินช่วยคำนวณได้เลย โดยรูปแบบของสูตร excel มีดังนี้

FV(rate,nper,pmt,[pv],[type])

ในกรณีของตัวอย่างการคิดค่าเงินในอนาคตสามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้

FV(4%/12,12,-1000,0,1) จะได้ค่าเงินฝากในอนาคตเดือนที่ 12 เท่ากัน แต่หากใช้สูตร

FV(4%/12,12,-1000,0,0) จะได้ค่าเงินฝากเฉพาะเงินต้นในเดือนที่ 12 ครับ

จากบทความนี้ก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประมาณการด้านการเงินในกรณีการฝากเงินของทุกท่านได้ครับ ทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งครับ การกู้เงินถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อนครับ ดังนั้นการคำนวณเงินกู้ก็จะเป็นไปในทำนองคล้ายกันครับ สวัสดีครับ

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

kpi : เทคนิคการออกแบบ แบบฟอร์ม kpi

แบบฟอร์ม kpi มีประโยชน์ในการติดตามปัญหาต่างๆเพื่อนำมาแก้ไขและปรับปรุงได้ง่ายในภายหลังรวมถึงใช้ในการประเมินผล ตัวชี้วัด kpi ของบุคคลหรือแผนกใดๆ โดยปกติแล้วก่อนจะบันทึกลงข้อมูลในแบบฟอร์ม kpi ในการทำ kpi ควรจะออกแบบแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลพื้นฐานลงในกระดาษก่อนเพื่อบันทึกรายละเอียดได้มากเพียงพอ ก่อนบันทึกลงในแบบฟอร์ม kpi ต่างๆที่เกี่ยวข้อง ดังได้นำเสนอเป็นตัวอย่าง kpi มาบ้างแล้ว เช่น แบบฟอร์ม kpi การผลิต ค่า oee ค่า AR แบบฟอร์ม kpi ซ่อมบำรุง ค่า MTBF เป็นต้น การออกแบบแบบฟอร์มการบันทึกข้อมูลพื้นฐานจะต้องมีความสมบูรณ์มีรายละเอียดเพียงพอและครอบคลุมจุดสำคัญที่จำเป็นต้องใช้เพื่อบันทึกลงแบบฟอร์ม kpi นั้นๆ มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการสูญเปล่าในการบันทึกข้อมูล
เทคนิคที่ใช้ในการออกแบบแบบฟอร์มการรายงานจะใช้คำถาม 5W 1H ซึ่งจะครอบคลุมรายละเอียดต่างๆที่เพียงพอ โดยรายละเอียด 5W 1H ที่ควรมีคือ
  1. Where คือสถานที่ แผนก เครื่องจักร ที่เราสนใจจะประเมินผล kpi
  2. What คือ ตัวชี้วัด kpi , ชื่อหัวข้อหรือสิ่งที่สนใจในการติดตามหรือบันทึก
  3. When คือวันและเวลาที่บันทึกข้อมูล
  4. Who คือใครเป็นผู้บันทึกแบบฟอร์ม kpi หรือแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐาน หรือใครเป็นผู้รับผิดชอบ
  5. Why คือเหตุใดต้องบันทึกหรือความสำคัญของข้อมูลหรือตัวชี้วัด kpi นี้ เพื่อให้ผู้บันทึกทราบ
  6. How ควรมีข้อความแนะนำการใช้แบบฟอร์มหรือวิธีการคำนวณ
เราจะเห็นว่าหากเราออกแบบแบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐานที่ดีและดำเนินการบันทึกแบบฟอร์มข้อมูลดังกล่าวลงใน excel หากท่านศึกษา การใช้ excel และการใช้สูตร excel เพียงพอแล้ว แบบฟอร์มข้อมูลพื้นฐานที่ออกแบบมาจะกลายเป็นแบบฟอร์ม kpi ได้เลย
หัวข้อที่เกี่ยวข้อง

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

vba excel : สร้างสูตร excel แปลงหน่วยเวลา

vba excel วันนี้จะขอนำเสนอการสร้างสูตร excel แปลงหน่วยเวลา เพื่อใช้งาน excel ปัญหาการคำนวณเวลาใน excel ยังมีความยุ่งยากในการใช้งานโดยเฉพาะรูปแบบของเวลาในการใช้ excel ผมได้เคยนำเสนอการใช้ excel เกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้อมูลด้านเวลามาพอสมควรในบทความที่ผ่านๆมา เรามาดูปัญหาที่ต้องแก้กันในหัวข้อนี้ครับ ปกติผู้ใช้งาน excel มักจะคุ้นเคยกับการบันทึกค่าเวลาในรูปแบบ h.mm เช่น 7.45 จะหมายถึง 7 ชั่วโมง 45 นาที รูปแบบของเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวเลขฐานสิบที่เราคุ้นเคยกัน นั่นคือ 0.45 + 0.20 มิได้หมายถึง 0.65 แต่จะหมายถึง 1.05 ดังนั้นบทความนี้เราจะมาสร้าง สูตร excel เพื่อแปลงหน่วยเวลาให้ตรงกันเพื่อให้สามารถดำเนินการบวก ลบ คูณ หาร ได้ครับ เริ่มจากเราจะสร้างสูตรแปลงเวลารูปแบบที่ผู้ใช้ excel คุ้นเคยไปยังรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้เราจะตั้งชื่อสูตร excel นี้ว่า TimeToMin โดยจะรับค่าเวลาในรูปแบบปกติเข้ามาดำเนินการและคืนค่าเวลาในหน่วยนาทีกลับไป

แนวคิด

ค่าเวลาที่รับมาจะถูกคูณด้วย 100 เพื่อแปลงเป็นจำนวนเต็ม และหารเอาเศษด้วย100 ด้วยฟังก์ชั่น mod ใน vba เศษที่ได้จะเป็นเวลาในหลักนาที ดังตัวอย่าง

หากค่าเวลาที่รับมาเป็น 7.45 ดังนั้น 7.45*100 = 745 เมื่อนำ 745 ไปหารเอาเศษด้วย 100 จะได้เท่ากับ 45 นั่นเอง

คำนวณจำนวนชั่วโมงได้ดังนี้

hr = (7.45*100 –45)/100 = 700/100 = 7

คำนวณเวลาในหน่วยนาทีได้ดังนี้

time = 7*60+45 = 465 นาที

เขียนเป็นฟังก์ชันใน vba ได้ดังนี้ครับ

Function TimeToMin(time As Double) As Integer
Dim min As Integer
Dim hr As Integer
min = (time * 100) Mod 100
hr = (time * 100 - min) / 100
TimeToMin = hr * 60 + min
End Function

การแปลงค่าเวลาจากหน่วยนาทีมาอยู่ในรูปแบบ h.mm สามารถเขียนฟังก์ชันใน vba ได้ดังนี้ครับ

Function MinToTime(time_m As Integer) As Double
Dim min As Integer
Dim hr As Integer
min = time_m Mod 60
hr = (time_m - min) / 60
MinToTime = (hr * 100 + min) / 100
End Function

การเรียกใช้สูตร excel ที่พัฒนาจาก vba ดูได้จากบทความพื้นฐาน vba excel ครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะนำไปประยุกต์ใช้กับการใช้ excel ที่เกี่ยวข้องกับเวลาได้นะครับ เพราะบางครั้งสูตร excel ที่สำเร็จรูปก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างง่ายและสะดวกครับ แล้วพบกับบทความการใช้ excel อื่นๆต่อไปนะครับสวัสดีครับ

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้า

การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้าในบทความนี้จะต่อจากเนื้อหาบทความ การใช้ excel คิดค่าไฟฟ้าเพื่อประหยัดไฟฟ้า ซึ่งเนื้อหาในบทความดังกล่าวจะกล่าวถึงการคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าจากกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัยและเวลาที่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้น โดยสุดท้ายเราจะได้พลังงานไฟฟ้ารวมที่เราใช้ไปในหนึ่งเดือนโดยประมาณ ในบทความนี้จะมาต่อกันด้วยการนำพลังงานไฟฟ้าที่คิดได้มาคิดค่าไฟฟ้าออกมาเป็นจำนวนเงินที่เราจะต้องจ่าย ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนกับรายจ่ายของเราครับ ก่อนอื่นผมขออธิบายค่าไฟฟ้าซึ่งการไฟฟ้าคิดจากเราก่อนนะครับ ซึ่งจะประกอบด้วยรายการดังนี้ครับ

  1. ค่าไฟฟ้าฐาน ก็คิดตามจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันตามจริงครับ
  2. ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า ft) อันนี้ก็ตามชื่อครับผันแปรตามการไฟฟ้าครับในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน บ้านไหนใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะก็จะถูกเก็บส่วนนี้เยอะครับ เพราะเป็นส่วนต้นทุนพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าครับ
  3. ค่าบริการ ตัวนี้จะขึ้นอยู่กับประเภทของการใช้ไฟและจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่เราใช้กันตามจริงในแต่ละเดือนครับ
  4. ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อันนี้ก็เป็นภาระของเราครับ End user

จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าดังกล่าวเรามาออกแบบ excel เพื่อคิดค่าไฟฟ้ากันก่อนเลยครับ ดังแสดงในภาพที่ 1

คิดค่าไฟฟ้า

ภาพที่ 1 รูปแบบ worksheet ใน excel เพื่อคำนวณค่าไฟฟ้า

หลักการทำงานของ worksheet นี้ สมมุติเราเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 บ้านที่อยุ่อาศัย

  1. ผู้ใช้ป้อนจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือนลงในช่อง C2 และป้อนค่า ft ต่อหน่วยในช่อง C2
  2. สูตร excel ที่เราป้อนในช่อง D2 และ D4 จะคำนวณค่าไฟฟ้าฐานและค่าบริการให้
  3. สูตร excel ที่เราป้อนในช่อง D3 จะคำนวณค่า ft ให้
  4. สูตร excel ที่เราป้อนในช่อง D5 จะคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มให้
  5. กำหนดประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า 1.1 หรือ 1.2 ในช่อง C7

เอาหล่ะครับเรามาดูการใช้สูตร excel ในแต่ละช่องกันเลยครับ

การใช้สูตร excel ช่อง D3 เนื่องจากค่า ft จะเท่ากับ ค่า ft ต่อหน่วยคูณกับจำนวนพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นจะเขียนสูตร excel ได้ดังนี้

= C3*C2

ใช้สูตร excel if เพื่อตรวจสอบว่าช่อง C3 และ C2 ว่างหรือไม่เพื่อความถูกต้องจะเขียนสูตร excel ได้เป็น

= IF(C2<>"", IF(C3<>"", C3*C2,""),"")

การใช้สูตร excel ในช่อง D4 จะตรวจสอบเงื่อนไขประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยหากเป็นประเภท 1.1 การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย ต่อเดือนจะคิดค่าบริการ 8.19 บาท และประเภท 1.2 การใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือนจะคิดค่าบริการ 40.90 โดยประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้าจะถูกกำหนดในช่อง C7 ใช้สูตร excel ได้ดังนี้ (ประเภทของผู้ใช้ต้องเป็น 1.1 หรือ 1.2 เท่านั้น)

= IF(C7=1.1,8.19,IF(C7=1.2,40.9,""))

หากต้องการตรวจสอบว่าช่อง C7 ว่างหรือไม่เพื่อความถูกต้องจะต้องใช้สูตร excel if มาช่วยอีกครั้งได้เป็น

=IF(C7<>"",IF(C7=1.1,8.19,IF(C7=1.2,40.9,"")),"")

การใช้สูตร excel ในช่อง D5 จะเป็นค่าการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าไฟฟ้าทั้งหมด จะเขียนสูตร excel ได้ดังนี้

= IF(C5<>"",C5*SUM(D2:D4)/100,"")

เอาหล่ะครับมาถึงการคำนวณที่สำคัญนั่นคือ ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งการคิดค่าไฟฟ้าฐานจะคิดแบบขั้นบันได ท่านผู้อ่านสามารถย้อนกลับไปศึกษาการคิดแบบขั้นบันไดได้จากบทความเรื่อง การใช้งาน Excel ประยุกต์ VLOOKUP คำนวณค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได โดยจากตารางการคิดค่าไฟฟ้าประเภทที่อาศัยของการไฟฟ้านครหลวงมีเงื่อนไขดังนี้ครับ

ประเภท1.1 การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

  • 5 หน่วย (หน่วยที่ 1-5) เป็นเงิน 0.00 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 6-15) หน่วยละ 1.3576 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่16-25) หน่วยละ 1.5445 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 1.7968 บาท
  • 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 2.1800 บาท
  • 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 2.2734 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป(หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 2.7781 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 2.9780 บาท

ประเภท 1.2 การใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน

  • 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 1.8047 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 2.7781 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 2.9780 บาท

จากเงื่อนไขค่าไฟฟ้าประเภท 1.1 ดังกล่าวสามารถเขียนเป็นตารางค่าไฟฟ้าสะสมที่ระดับหน่วยการใช้ไฟฟ้าต่างๆได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.1

จำนวนหน่วยขั้นต่ำ

ค่าไฟฟ้าสะสม

ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย

0

0

0

5

0

1.3576

15

= 10*1.3576 = 13.576

1.5445

25

= 10*1.5445 +13.576 = 29.021

1.7968

35

= 10*1.7968 + 29.021 = 46.989

2.18

100

=65*2.18+46.989 = 188.689

2.2734

150

= 50*2.2734 + 188.689 = 302.359

2.7781

400

= 250*2.7781 + 302.359 = 996.884

2.978

จากเงื่อนไขค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 ดังกล่าวสามารถเขียนเป็นตารางค่าไฟฟ้าสะสมที่ระดับหน่วยการใช้ไฟฟ้าต่างๆได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.2

จำนวนหน่วยขั้นต่ำ

ค่าไฟฟ้าสะสม

ค่าไฟฟ้าต่อหน่วย

0

0

1.8047

150

=150*1.8047=270.705

2.7781

400

=250*2.7781=694.525

2.978

จากบทความการคิดค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันได เราจะใช้สูตร excel : vlookup และ excel if มาช่วยคิดค่าไฟฟ้ากันครับ เริ่มจากตรวจสอบว่าช่อง C2 ว่างหรือไม่หากว่างจะไม่คำนวณอะไร หากไม่ว่างจะคิดค่าไฟฟ้าต่อไป สามารถใช้สูตร excel ดังนี้ครับ

= IF (C2<> “”,คิดค่าไฟฟ้า,””) สูตร excel 1

ขั้นตอนต่อมาการคิดค่าไฟฟ้าต้องกำหนดประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยในที่นี้เราจะกำหนดไว้ที่ช่อง C7 โดยค่าเริ่มต้นจะเป็นประเภท 1.1

ให้ท่านบันทึกข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าในตารางที่ 1 และ 2 ลงใน worksheet เดียวกับแผ่น sheet การคิดค่าไฟฟ้าดังแสดงในภาพที่ 2

การคิดค่าไฟฟ้าสะสมภาพที่ 2 ข้อมูลการคิดค่าไฟฟ้าใน excel

ในส่วนของการคิดค่าไฟฟ้าจะเริ่มจากตรวจสอบประเภทของผู้ใช้ในช่อง C7 ใช้สูตร excel ดังนี้

IF(C7 = 1.1 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.1 , ตรวจสอบช่อง C7 อีกครั้ง)

หากไม่ใช่ประเภท 1.1 จะตรวจสอบช่อง C7 อีกครั้งว่าเป็น ประเภท 1.2 หากใช่ก็คิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 หากไม่ใช่จะไม่คำนวณอะไรเลย ใช้สูตร excel ดังนี้

IF(C7 = 1.2 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.2 , “”)

ดังนั้นจะได้สูตร excel ที่ตรวจสอบประเภทของผู้ใช้ได้ดังนี้

IF(C7 = 1.1 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.1 , IF(C7 = 1.2 , คิดค่าไฟฟ้าประเภทที่ 1.2 , “”))

การคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.1 สามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้

ค่าไฟฟ้าสะสมของชั้นนี้ + ค่าไฟฟ้าเฉพาะชั้นนี้

VLOOKUP(C2,G2:I9,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G2:I9,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G2:I9,3,TRUE)

การคิดค่าไฟฟ้าประเภท 1.2 สามารถใช้สูตร excel ได้ดังนี้ ตารางข้อมูลเปลี่ยนเป็น G11:I13

VLOOKUP(C2,G11:I13,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G11:I13,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G11:I13,3,TRUE)

แทนสูตร excel ในแต่ละประเภทผู้ใช้แทนลงในสูตร excel ที่ใช้ในการตรวจสอบเงื่อนไขจะได้สูตร excel คิดค่าไฟฟ้าฐานเป็น

IF(C7 = 1.1 , VLOOKUP(C2,G2:I9,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G2:I9,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G2:I9,3,TRUE) , IF(C7 = 1.2 , VLOOKUP(C2,G11:I13,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G11:I13,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G11:I13,3,TRUE), “”))

นำสูตร excel คิดค่าไฟฟ้า ที่ได้เข้าไปแทนที่สูตร excel 1 ซึ่งตรวจสอบช่อง C2 จะได้สูตร excel สำหรับคิดค่าไฟฟ้าฐานในช่อง D2 ได้ดังนี้

= IF (C2<> “”,IF(C7 = 1.1 , VLOOKUP(C2,G2:I9,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G2:I9,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G2:I9,3,TRUE) , IF(C7 = 1.2 , VLOOKUP(C2,G11:I13,2,TRUE) + (C2- VLOOKUP(C2,G11:I13,1,TRUE))*VLOOKUP(C2,G11:I13,3,TRUE), “”)),””)

ผลรวมค่าไฟฟ้าทั้งหมดในช่อง D9 จะใช้สูตร excel ได้ดังนี้

= SUM(D2:D5)

ทดลองสูตร excel กันครับ

สมมุติให้ใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวน 160 หน่วย

ค่า ft = 0.2444 บาทต่อหน่วย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2

เมื่อป้อนข้อมูลลงในช่อง C2 ,C3, C4, C5 และ C7 จะได้ผลการคิดค่าไฟฟ้าดังแสดงในภาพที่ 3

ผลการคิดค่าไฟฟ้า

ภาพที่ 3 ผลการคิดค่าไฟฟ้า

สูตร excel ใน worksheet นี้ท่านผู้อ่านสามารถใช้นำไปคิดค่าไฟฟ้าได้เลยครับ ซึ่งอาจจะเพิ่มเติมในส่วนของการปัดเศษสตางค์อีกนิดหน่อยก็สมบูรณแล้ว ก็จะทำให้ท่านผู้อ่านพอทราบค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟฟ้าของครอบครัวของท่านได้ ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆก็สามารถนำไปใช้งานได้นะครับ สวัสดีครับ

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com