วันเสาร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2554

การใช้ excel คำนวณสินเชื่อเพื่อการบริโภค (Consumer loans) ตอนที่ 1

การใช้ excel ในบทความนี้ขอนำเสนอการคำนวณสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงมีโอกาสได้สัมผัสกันบ้างแล้ว โดยพบว่ามีความแตกต่างจากบัตรเครดิตอยู่บ้างซึ่งจะกล่าวในคราวต่อไปครับ โดยส่วนใหญ่สินเชื่อเพื่อการบริโภคมักจะถูกใช้ในการไปซื้อของที่มีราคาสูงเช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน หรือนำไปใช้วัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่น สินเชื่อเพื่อการศึกษาต่อ สินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคจะได้มาในรูปแบบของเงินสดครับ มาดูชนิดของสินเชื่อเพื่อการบริโภคกันก่อนครับ หากแบ่งตามลักษณะการจ่ายชำระคืนสินเชื่อ จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. สินเชื่อที่จ่ายคืนครั้งเดียว (Single payment loans) โดยจะจ่ายคืนครั้งเดียวเมื่อครบกำหนดทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยทั่วไปพบว่าจะมีระยะเวลาของสินเชื่อไม่เกิน 1 ปี
  2. สินเชื่อที่จ่ายคืนแบบผ่อนชำระ (Installment loans) เป็นสินเชื่อที่ผู้กู้จะต้องจ่ายชำระคืนเป็นงวดๆ และมักจะพบการกำหนดให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือน

หากแบ่งตามหลักประกันในการกู้ยืม จะแบ่งสินเชื่อเพื่อการบริโภคเป็น 2 ชนิดเช่นกันคือ

  1. สินเชื่อที่มีหลักประกัน (secured loans) เป็นการขอสินเชื่อที่ผู้ขอมีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน หากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระสินเชื่อได้ตามกำหนด จะถูกผู้ให้กู้นำสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกันไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาจ่ายชำระสินเชื่อ เช่น สินเชื่อรถยนต์ ก็มีรถยนต์เป็นหลักประกัน สินเชื่อบ้านก็มีบ้านเป็นหลักประกัน เป็นต้น
  2. สินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured loans) เป็นการขอสินเชื่อที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆเป็นหลักประกัน ซึ่งแน่นอนครับ ดอกเบี้ยของสินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราที่สูงกว่าสินเชื่อชนิดมีหลักประกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงที่ไม่ได้รับเงินต้นและดอกเบี้นคืน ตัวอย่างเช่น สินเชื่อส่วนบุคคล(Personal loans)

มาดูวิธีการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อการบริโภค

  1. สินเชื่อจ่ายคืนครั้งเดียว มีวิธีคิดดอกเบี้ย 2 วิธีดังนี้
    1. Simple Interest Method คำนวณดอกเบี้ยดังนี้

ดอกเบี้ย = เงินต้น*อัตราดอกเบี้ย*ระยะเวลากู้คืน (1)

หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ขอสินเชื่อต้องจ่ายจริงสามารถหาได้ดังนี้

อัตราดอกเบี้ยแท้จริง = 2*n*ดอกเบี้ยที่จ่ายตามสมการที่ 1/(P(N+1) (2)

เมื่อ n คือจำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระใน 1 ปี

P คือเงินต้น

N คือ จำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระทั้งหมด

การคิดดอกเบี้ยด้วยวิธี Simple Interest Method อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะมีค่าเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ระบุ

2. วิธี Discount การคำนวณดอกเบี้ยจะเหมือนกับวิธี Simple Interest Method แต่แตกต่างกันที่วิธีการนี้ผู้ให้สินเชื่อจะหักดอกเบี้ยไว้ก่อน ซึ่งทำให้ผู้ขอสินเชื่อได้รับเงินจากสินเชื่อไปเท่ากับ เงินต้น – ดอกเบี้ย และเมื่อครบกำหนดผู้ขอสินเชื่อจะต้องชำระสินเชื่อคืนตามจำนวนเงินต้นที่ระบุไว้ เช่น ต้องการยืมเงิน 10,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ผู้ขอสินเชื่อจะได้รับเงินไปเท่ากับ 10,000 – 500 = 9,500 และเมื่อครบกำหนดผู้ขอสินเชื่อจะต้องชำระสินเชื่อเป็นเงิน 10,000 บาท (เรียกง่ายๆในวงการหนี้ว่า ดอกหัก)

หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามสมการที่ 2 จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของการคิดดอกเบี้ยแบบวิธี Discount จะมีค่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุ

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านอาจจะเขียนสูตร excel เพื่อคำนวณดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพื่อใช้เปรียบเทียบและตัดสินใจในการขอสินเชื่อต่อไปครับ เดี๋ยวบทความต่อไปผมจะมาเล่าถึงการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อชนิดที่จ่ายจ่ายคืนแบบผ่อนชำระต่อไปครับ สวัสดีครับ

ปล สินเชื่อนอกระบบ (เงินกู้นอกระบบ) ก็คิดดอกเบี้ยใน 2 ลักษณะนี้เช่นกัน เพียงแต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดขึ้นมาจะมีค่าสูงกว่าสินเชื่อในระบบซึ่งถูกควบคุมด้วยกฎหมายครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com