วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การสร้างกราฟหรือแผนภูมิแบบเรดาร์ด้วย excel (How to make radar chart)

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ในบทความนี้ขอนำเสนอบทความเพื่อต่อยอดจากบทความ การใช้ excel สรุปความพึงพอใจในแบบสอบถาม ซึ่งได้นำเสนอการประเมินผลความพึงพอใจในแบบสอบถามไปแล้ว โดยผลความพึงพอใจที่ได้เป็นการแปลงข้อมูลคุณภาพเป็นข้อมูลเชิงปริมาณเรียบร้อย ซึ่งการนำเสนอผลการประเมินด้วยการสร้างกราฟแบบเรดาร์หรือแบบหลายเหลี่ยมจะสะท้อนภาพของผลการประเมินทั้งหมดออกมาพร้อมกันได้อย่างชัดเจน เราสามารถใช้ excel ในการสร้างกราฟแบบเรดาร์ได้อย่างไม่ยากนัก โดยเริ่มต้นจากเตรียมข้อมูลผลการประเมินในแต่ละหัวข้อลงใน Sheet ของ excel ดังแสดงในภาพที่ 1


ภาพที่ 1 ข้อมูลใน Sheet Excel

ขั้นตอนการสร้างกราฟเรดาห์โดยใช้ excel ทำได้ดังนี้
1.เลือกข้อมูล cell A1:B6
2.คลิกเลือกเมนู insert
3.เลือกทูลบาร์ Other charts
4.เลือก chart type เป็น radar ชนิด Radar with Markers
จะได้กราฟหรือแผนภูมิแบบเรดาร์ดังแสดงในภาพที่ 2



ภาพที่ 2 กราฟแบบเรดาร์จากโปรแกรม excel

ในกรณีที่คะแนนสูงสุดของการประเมินในทุกหัวข้อเท่ากันท่านผู้อ่านสามารถปรับสเกลของกราฟได้ สมมุติให้ทุกหัวข้อการประเมินมีคะแนนเต็ม 6 คะแนน ให้ท่านผู้อ่านเลือกแกนกราฟและคลิกเมาส์ปุ่มขวา เลือก Format axis... โปรแกรม excel จะแสดงหน้าต่าง Format axis ให้ท่านผู้อ่านเลือกหัวข้อ Axis Options ด้านขวา ในพื้นที่ด้านซ้าย หัวข้อ Maximum คลิกเลือก  Fixed ป้อนค่าคะแนนเต็ม 6 และกดปุ่ม Close จะได้กราฟแบบเรดาร์ดังแสดงในภาพที่ 3


ภาพที่ 3 กราฟแบบเรดาร์หลังปรับคะแนนเต็มของหัวข้อประเมิน

ในกรณีที่หัวข้อการประเมินมีคะแนนเต็มไม่เท่ากันในการนำเสนอด้วยกราฟแบบเรดาร์ เราจะทำการเพิ่มกราฟแสดงเส้นคะแนนเต็มของหัวข้อการประเมิน จากข้อมูลในภาพที่ 1 ให้ท่านผู้อ่านทำการเพิ่มข้อมูลคะแนนเต็มของแต่ละหัวข้อการประเมินในคมลัมภ์ C ดังแสดงในภาพที่ 4


ภาพที่ 4 ข้อมูลการประเมินผลแบบสอบถาม

ให้ท่านผู้อ่านดำเนินการตามขั้นตอน 1-4 ของวิธีการสร้างกราฟด้วย excel โดยในขั้นตอนที่ 1 ให้เลือกข้อมูลจาก cell A1:C6
ภาพที่ 5 แผนภูมิเรดาร์หลังการปรับปรุง

จากบทความที่นำเสนอไปท่านผู้อ่านจะเห็นว่า กราฟแบบเรดาร์เหมาะสำหรับใช้ในการนำเสนอข้อมูลการประเมินผลต่างๆ เช่น แบบสอบถาม เป็นต้น และที่สำคัญ กราฟแบบเรดาร์สามารถสร้างโดยใช้ excel ได้ไม่ยากนักดังที่นำเสนอไปแล้ว 

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การคำนวณตำแหน่งรูเจาะในกะทะล้อหรือล้อแม็ก (pitch circle diameter)

วันนี้ขอเสนอบทความที่เกี่ยวกับช่างเทคนิคหรือวิศวกรซักเล็กน้อยครับ สืบเนื่องจากมีโอกาสได้ไปเกี่ยวดองหนองยุ่งกับกะทะล้อและล้อแม็กรถยนต์ มีคำถามจากเพื่อนๆว่าจะวัดขนาดของ pitch circle diameter บนกะทะล้อหรือล้อแมกซ์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เราต้องเจาะรูเพื่อยึดกะทะล้อหรือล้อแม็กได้อย่างไร เป็นคำถามที่ช่างทุกคนตอบได้ไม่ยาก หากจำนวนรูเจาะเป็น 4 รู, 6 ,8 รู ซึ่งจะมีรูเจาะที่อยุ่ตรงข้ามกันและเมื่อลากเส้นจากจุดศูนย์กลางของรูเจาะทั้งสองจะพบว่าเส้นดังกล่าวผ่านจุดศูนย์กลางของกะทะหรือล้อแม็กพอดี โดยระยะห่างระหว่างศูนย์กลางของโบลต์ 2 ตัวที่อยู่ตรงกันข้ามกัน จะเป็นขนาดของ pitch circle diameter แต่หากเป็น 5 รู ดังแสดงในภาพที่ 1 วิธีการวัดบนกะทะล้อหรือล้อแม็กดังกล่าวจะไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้นในบทความนี้จึงขอนำเสนอวิธีการหา pitch circle diameter ของกะทะล้อหรือล้อแม็กที่จำนวนรูเจาะ n ใดๆ โดยไม่จำกัด
กะทะล้อ
ภาพที่ 1 กะทะล้อแบบ 5 รูเจาะ
ก่อนอื่นขอให้ท่านผู้อ่านทบทวนพื้นฐานและสมบัติของรูปวงกลม ดังแสดงในภาพที่ 2 ครับ
ใช้สูตร excel
ภาพที่ 2 สมบัติของวงกลม
ในบทความนี้ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณา คอร์ด AB ครับ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการหา pitch circle diameter สมบัติของคอร์ด กล่าวไว้ว่า
  • ถ้าส่วนของเส้นตรงผ่านจุดศูนย์กลางของวงกลม และตั้งฉากกับคอร์ดที่ไม่ใช้เส้นผ่านศูนย์กลาง แล้วส่วนของเส้นตรงนั้นจะแบ่งครึ่งคอร์ด
  • ถ้าส่วนของเส้นตรงผ่านจุดศูนย์กลางของวงกลม และแบ่งครึ่งคอร์ดที่ใช่เส้นผ่านศูนย์กลางแล้ว ส่วนของเส้นตรงนั้นจะตั้งฉากกับคอร์ด
จากสมบัติทั้งสองข้อของคอร์ด แสดงได้ดังภาพที่ 3
Wheel Rimภาพที่ 3 สมบัติรูปร่างเพื่อใช้ในการวัดกะทะล้อหรือล้อแม็ก
หากท่านผู้อ่านจินตนาการว่าจุด A และ จุด B คือจุดศูนย์กลางของรูเจาะสองรูที่อยู่ใกล้กันบนกะทะล้อหรือล้อแม็ก เมื่อเราลากเส้นตรงจากจุดศูนย์กลาง O ของกะทะล้อหรือล้อแม็กไปยังจุด A และ B เราจะได้สามเหลี่ยม หน้าจั่ว OAB เนื่องจากเส้นตรง OA และ OB มีความยาวเท่ากันเท่ากับรัศมีของ pitch circle diameter หากพิจารณาสามเหลี่ยมย่อย AOC และ BOC เราจะพบว่า
มุม AOC = มุม BOC เนื่องจากสมบัติของสามเหลี่ยมหน้าจั่ว
ดังนั้น มุม AOC = มุม AOB /2
มุม AOB คือมุมรองรับเซกเมนต์ AB
Wheel piece
ภาพที่ 4 รูปร่างเรขาคณิตของกะทะล้อหรือล้อแม็ก
การประยุกต์หา pitch circle diameter ของกะทะล้อและล้อแม็ก
ให้ท่านผู้อ่านจินตนาการว่าหากมีรูเจาะทั้งหมด n รู รอบ pitch circle diameter (PCD) เราจะพบคอร์ดทั้งหมด n คอร์ด
มุมรองรับของแต่ละคอร์ด = 360/n
จากรูปสามเหลี่ยม AOC จากความสัมพันธ์ทางตรีโกณมิติเราจะได้ว่า
AC = OA*sin(AOC)     (1)
หาก AC = AB/2 , OA = PCD/2 , มุม AOC = 360/(2*n)
แทนค่าลงในสมการ 1 จะได้
AB/2 = (PCD/2)sin(180/n)     
จัดรูปใหม่เป็น
PCD = AB/sin(180/n)        (2)
หรือ PCD = m*AB
เมื่อ m = 1/sin(180/n)
เมื่อ PCD = pitch circle diameter
AB คือ ความยาวคอร์ด AB หรือระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของรูเจาะที่อยู่ติดกัน
n คือจำนวนรูเจาะ
ท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่า การหา pitch circle diameter ของกะทะหรือล้อแม็ก จะสามารถคำนวณได้จากความยาวของระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของรูเจาะที่อยู่ติดกัน
ในทางปฏิบัติ ช่างหรือวิศวกรที่อยู่หน้างานก็ต้องวัดระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของรูเจาะที่อยู่ติดกันทั้งหมด n ค่าและนำมาหาค่าเฉลี่ย (สูตร excel ใช้ average ) เพื่อให้มีความถูกต้องมากขึ้น ในขณะเดียวกันการวัดระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของรูเจาะที่อยู่ติดกันควรจะกระทำขณะที่กะทะล้อหรือล้อแม็กสวมอยู่จะเป็นการสะดวกและได้ค่าที่ถูกต้องกว่า ท่านผู้อ่านอาจจะเขียนสูตรใน excel เพื่อช่วยให้คำนวณได้ง่ายขึ้น โดยเราจะพบว่าค่า m เป็นค่าคงที่และสามารถนำมาใช้สูตร excel ดังนี้
= 1/sin(radiand(180/B3)) หากกำหนดให้จำนวนรูเจาะถูกบันทึกไว้ที่ cell B3 ค่า m ที่จำนวนรูเจาะต่างๆกันแสดงเป็นตัวอย่างได้ในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตัวคูณคำนวณสำหรับคำนวณ PCD ของกะทะล้อหรือล้อแม็ก

จำนวนรูเจาะ m
4 1.4142
5 1.7013
6 2.0000
8 2.6131
10 3.2361

สรุปขั้นตอนการหาตำแหน่งรูเจาะบนกะทะล้อหรือล้อแม็กนะครับ
  • นับจำนวนรูเจาะ
  • วัดระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของรูเจาะที่อยู่ติดกันจำนวนเท่ากับรูเจาะ
  • หาค่าเฉลี่ยของระยะห่างระหว่างจุดศูนย์กลางของรูเจาะที่อยู่ติดกัน
  • คำนวณค่า pitch circle diameter ของกะทะหรือล้อแม็ก ตามสมการที่ 2 หรือใช้ค่า m ตามตารางที่ 1
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับท่านผู้อ่านนะครับ สวัสดีครับ



วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การใช้แผนภูมิพาเรโตวิเคราะห์ด้านการเงิน (finance)

ผมได้นำเสนอการใช้ excel สร้างแผนภูมิพาเรโตไปแล้วในบทความที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จะพบการใช้แผนภูมิพาเรโตในงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อพิจารณาแนวคิดของแผนภูมิพาเรโตจะพบว่าเป็นแผนภูมิที่ใช้วิเคราะห์ปัญหาได้ทั่วๆไป ที่ผ่านมาผมได้เคยนำเสนอการบันทึกรายจ่ายประจำวัน และการบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวันให้ท่านผู้อ่านได้ทราบไปแล้ว ซึ่งจะพบว่าการบันทึกข้อมูลดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายเพียงใช้สูตร excel แต่ปัญหาหลักคือการควบคุมการใช้จ่ายเพื่อให้มีการใช้จ่ายต่ำที่สุดหรือการกำจัดรายจ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป การใช้แผนภูมิพาเรโตจะช่วยท่านวิเคราะห์หาเหตุที่ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นได้ครับ ลองนำไปประยุกต์กันครับ
ในขณะเดียวกันหากใช้แผนภูมิพาเรโตช่วยวิเคราะห์สาเหตุเราจะมีหลักเกณฑ์ใดที่ช่วยในการเลือกปัญหาที่วิกฤตมาแก้ไขก่อน ปัญหาวิกฤตไม่จำเป็นต้องเป็นหัวข้อที่มีความถี่สูงที่สุดเพียงข้อเดียว หลักของการหาจุดวิกฤตดังกล่าวคือให้พิจารณาจุดที่ความชันของเปอร์เซนต์สะสมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากความชันมากไปยังความชันน้อย โดยหัวข้อของปัญหาที่อยุ่ด้านซ้ายของจุดดังกล่าวจะเป็นหัวข้อปัญหาที่ต้องรีบหาวิธีการแก้ไขโดยด่วนครับ ดังแสดงในภาพที่ 1
ภาพที่ 1 จุดวิกฤตของแผนภูมิพาเรโต

ในด้านการเงินมีประเด็นที่น่าสนใจที่อยากจะนำเสนอท่านผู้อ่าน นั่นคือการใช้แผนภูมิพาเรโตช่วยจัดลำดับความสำคัญของการชำระหนี้สิน จากที่เคยนำเสนอมาแล้วว่า หนี้สินแบ่งออกได้หลายประเภทเช่นหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อ หนี้นอกระบบ หนี้จากญาติพี่น้อง เป็นต้น บางครั้งการพิจารณาเฉพาะเงินต้นเพียงอย่างเดียวด้วยแผนภูมิพาเรโตอาจจะไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของการชำระหนี้สินได้  การแจกแจงเป็นดอกเบี้ยต่อปีหรือต่อเดือนที่ต้องชำระและใช้แผนภูมิพาเรโตช่วยวิเคราะห์จะเห็นความชัดเจนของหนี้สินที่เราต้องจัดการชำระก่อนเป็นลำดับต้นๆครับ ดังนั้นจุดสำคัญของการใช้แผนภูมิพาเรโตคือการกำหนดหัวข้อของปัญหาหรือปริมาณที่จะวัดให้ถูกต้องสามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ต้องการแก้ครับ 
  

วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การใช้ excel สร้างแผนภูมิพาเรโต (How to make a Pareto Chart)

บทความฉบับนี้ขอนำเสนอการใช้ excel สร้างแผนภูมิพาเรโต (Pareto chart) แผนภูมิพาเรโตเป็นแผนภูมิที่ใช้สำหรับแสดงปัญหาหรือหัวข้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่กำลังสนใจ โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาไปกับสิ่งที่กำลังจะก่อให้เกิดปัญหา หรือใช้เพื่อช่วยตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ โดยหลักการสร้างแผนภูมิพาเรโตจะเริ่มจากการเรียงลำดับปัญหาหรือหัวข้อต่างๆเหล่านั้นตามความถี่ที่พบจากมากไปหาน้อยและแสดงขนาดความถี่มากน้อยด้วยแผนภูมิแท่งควบคู่ไปกับการแสดงค่าสะสมของความถี่ด้วยแผนภูมิเส้น ซึ่งแกนนอนของแผนภูมิเป็นประเภทของปัญหาและแกนตั้งเป็นค่าร้อยละของปัญหาที่พบ จากหลักการดังกล่าว จะพบว่าเราสามารถใช้ excel ช่วยสร้างแผนภูมิพาเรโตได้โดยไม่ยากนัก โดยต้องกำหนดให้แผนภูมิดังกล่าวประกอบด้วยแกนตั้ง 2 แกน (Primary and secondary axis) ผมขอยกตัวอย่างการสร้างแผนภูมิพาเรโตด้วย excel ดังต่อไปนี้ครับ
สมมุติว่าเราได้ทำการวิเคราะห์แยกสาเหตุของการทำของเสียในกระบวนการผลิตทั้งหมด 6 ข้อ สมมุติให้เป็นสาเหตุ A , B, C, D, E, F โดยจำนวนของเสียเมื่อแยกตามสาเหตุต่างๆแล้วสามารถบันทึกลงในโปรแกรม excel ได้ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 ข้อมูลของเสียจากการผลิต

ให้ท่านผู้อ่านทำการเรียงข้อมูลจำนวนของเสียจากมากไปหาน้อย (เรียงตามข้อมูลในหลัก C ) จากนั้นให้ท่านผู้อ่านสร้างหลักข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกสองหลัก (หลัก D and หลัก E) โดยกำหนดสูตร excel เพื่อคำนวณจำนวนของเสียสะสมในหลัก D ดังนี้
D6 = C6
สำหรับ D7 เขียนสูตร excel เพื่อคำนวณจำนวนของเสียสะสม
D7 = D6+C7
ท่านผู้อ่านสามารถ drag เพื่อสำเนาสูตร excel ไปยัง D8 to D12
กำหนดสูตร excel เพื่อคำนวณจำนวนเปอร์เซนต์ของเสียสะสมในหลัก E ได้ดังนี้
E6 = D6/$D$12
ท่านผู้อ่านสามารถ drag เพื่อสำเนาสูตร excel ไปยัง E8 to E12
กำหนดรูปแบบของเซลล์ E6 to E12 เป็นแบบ %
เมื่อดำเนินการถึงขั้นนี้จะได้ข้อมูลที่พร้อมสำหรับสร้างแผนภูมิพาเรโตแล้วดังแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 ข้อมูลของเสียหลังจากปรับแต่งเพื่อสร้างแผนภูมิพาเรโต


เอาหล่ะครับเรามาสร้างแผนภูมิพาเรโตโดยการใช้ excel กันเลยครับ (อ้างอิงการใช้ excel 2010) เริ่มจาก การสร้างแผนภูมิแท่ง มีรายละเอียดดังนี้
1. เลือกข้อมูล B5:C12,E5:E12 (ทำได้โดยการเลือก B5:C12 และกดปุ่ม ctrl ขณะเลือก E5:E12)
2. เลือกเมนู Insert - 2D Column เลือกชนิดของแผนภูมิแท่งเป็นแบบ Clustered Column (คอลัมน์แบบกลุ่ม) คลิกปุ่ม OK

จะได้แผนภูมิแท่งดังแสดงในภาพที่ 3




ภาพที่ 3 แผนภูมิแท่งแสดงสาเหตุ

3. ใช้เมาส์เลือกแท่งข้อมูล เปอร์เซนต์ของเสียสะสม(แท่งสีแดงต่ำๆ)และคลิกเมาส์ขวา เลือก Change Series Chart Type... (เปลี่ยนชนิดแผนภูมิชุดข้อมูล...) จะปรากฎหน้าต่าง Change Chart Type ให้เลือกแผนภูมิประเภท X Y (Scatter) และเลือกชนิด Scatter with Straight Lines and Markers คลิกปุ่ม OK
4. ทำการย้าย legend ของแผนภูมิไปยังด้านล่างของแผนภูมิ โดยการคลิกเมาส์เลือกแผนภูมิ และเลือกเมนู Layout เลือก Legend เลือก Show Legend at bottom
5. เพิ่มป้ายชื่อแกนแนวนอนและแนวตั้งของแผนภูมิพาเรโต โดยการคลิกเมาส์เลือกแผนภูมิ และเลือกเมนู Layout เลือก Axis Titles เพิ่มป้ายชื่อแกนตั้งและแกนนอน
โดยการเลือก Primary Horizontal Axis Titles สำหรับป้ายแกนแนวนอน (สาเหตุการเกิดของเสีย)
โดยการเลือก Primary Vertical Axis Titles สำหรับป้ายแกนตั้งด้านซ้าย(จำนวนของเสีย (ชิ้น))
โดยการเลือก Secondary Vertical Axis Titles สำหรับป้ายแกนตั้งด้านขวา (เปอร์เซนต์ของเสียสะสม)
6. ปรับรูปแบบแกน เปอร์เซนต์ของเสียสะสมให้แสดงค่าสูงสุดเท่ากับ 100% โดยการคลิกเมาส์ขวาที่แกนตั้งด้านขวา เลือก จัดรูปแบบแกน... จะปรากฎ หน้าต่าง จัดรูปแบบแกน ใน List ด้านซ้ายให้ท่านเลือก ตัวเลือกแกน หน้าต่างด้านขวาจะปรากฎ ตัวเลือกแกนขึ้น ให้เลือก ค่ามากที่สุด เป็น ค่าคงที่ และปรับค่าเป็น 1.0 ดังแสดงในภาพที่ 4


ภาพที่ 4 หน้าต่างการปรับรูปแบบแกน เปอร์เซนต์ของเสียสะสม


ท่านจะได้แผนภูมิพาเรโตดังแสดงในภาพที่ 5



ภาพที่ 5 แผนภูมิพาเรโตจากการใช้ excel 

สุดท้ายท่านผู้อ่านก็จะได้แผนภูมิพาเรโตเพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ต้องการแล้วนะครับ จะเห็นว่าการใช้ excel สร้างแผนภูมิพาเรโต ไม่ได้ยากเลยเนื่องจาก excel มีเครื่องมือช่วยสร้างแผนภูมิที่สมบูรณ์อยู่แล้วนั่นเอง สุดท้ายครับขอฝากหัวใจของการวิเคราะห์แผนภูมิพาเรโตไว้ดังนี้ครับ
แผนภูมิพาเรโตใช้เลือกปัญหาหรือสาเหตุที่จะลงมือทำหรือแก้ปัญหาเนื่องจากปัญหาสำคัญหรือสาเหตุสำคัญมีอยู่ไม่กี่ประการ แต่สร้างข้อบกพร่องหรือความเสียหายกับผลิตภัณฑ์หรือคุณภาพในด้านต่างๆเป็นจำนวนจำนวนมาก ส่วนปัญหาหรือสาเหตุปลีกย่อยมีอยู่มากมายแต่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก ดังนั้นจึงควรเลือกแก้ไขปัญหาหรือสาเหตุที่สำคัญซึ่งถ้าแก้ไขได้จะลดข้อบกพร่องหรือความเสียหายลงได้มาก เดี๋ยวบทความต่อไปผมจะยกตัวอย่างการใช้ แผนภูมิพาเรโตเพื่อวิเคราะห์ปัญหาด้านการเงินส่วนบุคคลโดยใช้ excel กันครับ และจะนำเสนอการหาจุดวิกฤตในแผนภูมิพาเรโตเพื่อช่วยเลือกปัญหาหรือสาเหตุที่จะลงมือแก้หรือลงมือทำกันครับ สวัสดีครับ 

หัวข้อใกล้เคียง
การใช้ excel สร้างแผนภูมิฮิสโตแกรมโดยใช้เครื่องมือสำเร็จรูป

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การใช้ excel ช่วยคำนวณพื้นที่ดิน

บทความนี้ขอเสนอการคำนวณพื้นที่ดินโดยการใช้ excel เนื่องจากที่ผ่านมามีคำถามเกี่ยวกับการขายหรือเช่าซื้อที่ดินหรือธุรกิจการรับถมที่ดินต่างๆ โดยการคำนวณพื้นที่ดินเป็นพื้นฐานของการประมาณราคาของงานดังกล่าว เช่น นำไปคำนวณหาปริมาตรของดินที่จะใช้ถมที่ นำไปคำนวณราคาขายที่ดิน หรือราคาเช่าที่ดินเป็นต้น ปัญหาของการคำนวณพื้นที่ดินอยู่ที่ รูปร่างของที่ดินมักจะเป็นรูปหลายเหลี่ยมที่คำนวณหาพื้นที่ได้ยาก แต่ผมได้เคยนำเสนอการคำนวณหาพื้นที่รูปหลายเหลี่ยมโดยใช้ excel ไปแล้วในบทความแรกๆของบล็อกนี้ ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปศึกษาวิธีการคำนวณได้ โดยวิธีการประยุกต์ใช้วิธีการคำนวณพื้นที่รูปหลายเหลี่ยมดังกล่าวกับการคำนวณพื้นที่ดิน มีหลักอยู่ว่า ท่านผู้อ่านต้องกำหนดจุดเริ่มต้นที่หลักของที่ดิน 1 หลัก โดยให้มีพิกัดเป็น 0,0 จากนั้นวัดตำแหน่งหลักของที่ดินเสาถัดไปโดยอ้างอิงกับหลักของที่ดินหลักแรก และบันทึกลงตามรูปแบบของ excel ที่ได้นำเสนอไป ท่านผู้อ่านก็สามารถคำนวณพื้นที่ดินดังกล่าวได้แล้วครับ ข้อสำคัญขอให้วัดพิกัดของหลักที่ดินในหน่วยเมตรครับ สุดท้ายท่านจะได้พื้นที่ของที่ดินในหน่วยของ ตารางเมตรครับ ท่านผู้อ่านสามารถใช้สูตร excel แปลงพื้นที่ดินจากตารางเมตรเป็นหน่วยไร่ งาน และตารางวา ได้ดังนี้ครับ

1 ตารางวา เท่ากับ 4 ตารางเมตร
1 งาน เท่ากับ  100 ตารางวา เท่ากับ 400 ตารางเมตร
1 ไร่ เท่ากับ 4 งาน  เท่ากับ 1,600 ตารางเมตร



จากบทความนี้ ผมต้องการนำเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบถึงการคำนวณพื้นที่ดินเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจะเอาเปรียบเราครับ แล้วพบกันใหม่ครับ สวัสดีครับ

วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การใช้แอร์ปรับอากาศแบบประหยัดพลังงาน (Energy Saving)

เข้าสู่หน้าร้อนของเมืองไทยอย่างเต็มตัว การใช้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ต้นเหตุของการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เกิดจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์แบบเราๆท่านๆเนี่ยหล่ะครับ ท่านผู้อ่านสามารถคิดค่าไฟฟ้าที่บ้านท่านได้ด้วยการใช้ excel ดังที่ได้นำเสนอมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ครับ ในบทความนี้อยากจะนำเสนอเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในปัจจุบัน นั่นคือ แอร์ปรับอากาศ เครื่องปรับอากาศ ครับ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในหน้าร้อนของเราเป็นอย่างมาก หลักการของเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานจาก Compressor ในการถ่ายเทพลังงานความร้อนจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง จากหลักการดังกล่าว เราจะพบว่าหากความแตกต่างของอุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิสูงมีค่าสูงขึ้น(ในหน้าร้อน) คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศจะต้องใช้พลังงานในการถ่ายเทพลังงานความร้อนสูงขึ้น ในขณะเดียวกันประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศก็มีผลต่อการทำงานของคอมเพรสเซอร์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจากที่กล่าวมาจึงอยากจะแนะนำท่านผู้อ่านในการประหยัดพลังงานของการใช้เครื่องปรับอากาศแบบได้ผล ดังนี้ครับ
  1. ในฤดูร้อนอากาศภายนอกมีอุณหภูมิสูงหากต้องการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ท่านผู้อ่านควรจะปรับอุณหภูมิภายในห้องปรับอากาศให้สูงขึ้น เพื่อลดความแตกต่างของอุณหภุมิทั้งสองจุด (เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมหน้าร้อนจึงใช้พลังงานมากกว่าหน้าหนาวหรือหน้าฝน)
  2. ควรทำความสะอาดระบบปรับอากาศและเปลี่ยนน้ำยาแอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศ จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง
ครับจากที่กล่าวมาอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดระบบปรับอากาศ ในขณะเดียวกันการปรับเพิ่มอุณหภูมิในห้องปรับอากาศอาจทำให้รู้สึกร้อนขึ้นกว่าเดิม แต่ผมรับรองว่าสิ้นเดือนท่านผู้อ่านจะรู้สึกเย็นกายเย็นใจมากกว่าเดือนก่อนหน้านี้ก็เป็นได้ อันเนื่องมาจากค่าไฟฟ้าลดลงและไม่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแอร์ ที่สำคัญ หลังจากช่วยตัวเองในเรื่องเงินในกระเป๋าแล้วยังเป็นการประหยัดพลังงานช่วยชาติด้วยนะครับสวัสดีครับ
Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com