วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การใช้ excel : การจัดทำงบดุล

การใช้ excel ในบทความนี้จะนำเสนอ การจัดทำงบดุล ซึ่งเปรียบได้กับการเอกซเรย์สุขภาพการเงินของเราๆท่านๆกันครับ ในบทความสองสามบทความที่ผ่านมาผมได้นำเสนอการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประเภทต่างๆเพื่อให้ทราบสภาพคล่องทางการเงินของเรา หากเปรียบไปแล้วบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าวก็เสมือนอวัยวะภายในของร่างกายเรา เช่น ตับ กระเพาะ หัวใจ ฯลฯ โดยการเงินที่ไหลผ่านไปมาเพื่อดำเนินการต่างๆเปรียบไปก็เหมือนกับเลือดที่ไหลไปเลี้ยงร่างกายของเรานั่นเอง ดังนั้นการจัดงบดุลจะทำให้เราทราบสถานะทางการเงินของเราในภาพใหญ่ได้เป็นอย่างดี โดยงบดุลจะแสดงปริมาณเงินที่สะสมอยู่ในบัญชีรายรับรายจ่ายต่างๆ ณ วันใดวันหนึ่ง ซึ่งการจัดทำงบดุลของตัวเราเองก็สามารถทำได้โดยง่ายหากเราได้ดำเนินการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายแต่ละประเภทมาแล้วยิ่งสามารถจัดทำงบดุลได้โดยไม่ยากมากนัก เรามาดูตัวอย่าง งบดุล ที่ถูกจัดทำไว้โดยใช้ excel ดังแสดงในภาพที่ 1
งบดุล
ภาพที่ 1 งบดุล
จากตัวอย่างงบดุลในภาพที่ 1 เราจะเห็นว่า ตารางงบดุลจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนด้านซ้ายเป็นส่วนของทรัพย์สิน ส่วนด้านขวาจะประกอบด้วยส่วนหนี้สินและส่วนที่เป็นของเรา ซึ่งผลรวมของตัวเลขด้านขวา(รวมหนี้สิน + ส่วนของเรา)ต้องเท่ากับผลรวมของตัวเลขด้านซ้าย อธิบายได้ง่ายๆว่างบดุลจะช่วยบอกเราได้ว่า ตัวเรามีสินทรัพย์อะไรบ้าง และตีเป็นจำนวนเงินได้เท่าไหร่ (ด้านซ้าย) และยังสามารถบอกได้อีกว่า ทรพย์สินที่เรามีอยู่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเราเอง(ส่วนของเรา)เท่าไหร่ และกู้เจ้าหนี้มาเท่าไหร่ (รวมหนี้สิน) จากการวิเคราะห์งบดุล เราจะเห็นว่าทรัพย์สินของเราตามงบดุลอาจไม่ได้เป็นของเราจริงๆ 100% (ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ บ้าน ที่ดิน)แต่จะเป็นของเราเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามีส่วนของเราคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์นั่นเอง ดังนั้นหากจะวัดสุขภาพการเงินเราควรจะวัดส่วนที่เป็นของเรามากว่า จากตารางงบดุล ท่านจะเห็นว่ามีข้อมูลบางรายการในส่วนของสินทรัพย์และหนี้สินที่อ้างอิงได้จากบัญชีรายรับรายจ่าย คือข้อมูลเงินสดในเซลล์ B6 เราจะอ้างถึงบัญชีรายรับรายจ่ายประเภทเงินสด ข้อมูลเงินฝากออมทรัพย์ในเซลล์ B7 เราจะอ้างถึงบัญชีรายรับรายจ่ายประเภทบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ข้อมูลบัตรเครดิตในเซลล์ D6 เราจะอ้างถึงบัญชีรายรับรายจ่ายประเภทบัตรเครดิต
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าจากที่ผมได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับบัญชีรายรับรายจ่ายจนถึงงบดุลในบทความนี้ หวังว่าท่านผู้อ่านจะนำไปประยุกต์การบริหารจัดการด้านการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ บทความต่อไปผมจะนำเสนอการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นแต่จะช่วยให้ท่านวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงินในรูปแบบต่างๆได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดจุดมุงหมายของเราก็คือการเพิ่ม ส่วนของเราใน งบดุล และการเพิ่มส่วนของทรัพย์สินในงบดุล นั่นเอง สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com