วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เปรียบเทียบการคิดดอกเบี้ยของสินเชื่อแบบต่างๆ

การคิดดอกเบี้ยในการผ่อนชำระของการกู้แบบต่างๆ จะมีวิธีการคิด 2 วิธี ดังนี้ครับ
1. Simple Interest Method เป็นวิธีการคิดแบบ ต้นลดดอกลด  โดยยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนจะเท่ากันและประกอบไปด้วย เงิน + ดอกเบี้ย โดยจะคิดดอกเบี้ยจากยอดเงินต้นที่คงค้างเท่านั้น ดังนั้นในงวดแรกๆจะมีดอกเบี้ยมากกว่างวดหลังๆ 
2. Add-ON Method เป็นยอดผ่อนชำระต่อเดือนหาได้จากการนำเงินต้น + ดอกเบี้ยและนำมาหารเฉลี่ย ดังสมการ
                        เงินผ่อนต่อเดือน = (เงินต้น + ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมด)/จำนวนงวดที่ต้องการผ่อน

ทีนี้มาถึงแนวคิดหล่ะครับ ส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยแบบ Add-ON Method มักจะดูมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยแบบ Simple Interest Method แต่อย่าลืมว่า อัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 Method มีนิยามที่ไม่เหมือนกัน การเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยทั้งสอง Method จะต้องเปรียบเทียบด้วย อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Annual Percentage Rate : APR) ครับ ซึ่งผมขอสรุปดังนี้นะครับ
1. การคิดดอกเบี้ยแบบ Simple Interest Method ค่า APR จะเท่ากับดอกเบี้ยที่ระบุตามสินเชื่อนั้นๆเลยครับ
2. การคิดดอกเบี้ยแบบ Add-ON Method ค่า APR จะมีค่าสูงกว่าดอกเบี้ยที่ระบุ โดยมีสูตรคำนวณโดยประมาณดังนี้

                APR = n(95N+9)I/((12N(N+1)(4P+I))
เมื่อ n คือ จำนวนงวดที่ต้องผ่อนชำระใน 1 ปี
N คือจำนวนงวดที่ต้องผ่อนทั้งหมด
I คือ ดอกเบี้ยจ่าย (บาท)
P คือ เงินต้น (บาท)

เรามาดูกันต่อครับ สินเชื่อประเภทใดคิดดอกเบี้ยแบบไหนกันบ้างครับ 
1. Simple Interest Method เช่น การกู้ซื้อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล กู้ตกแต่งบ้าน ฯลฯ
2. Add-ON Method เช่น กู้ซื้อรถยนต์ รถยนต์มือสอง เป็นต้น

แต่จุดมุ่งหมายของบทความนี้คืออยากให้ท่านผู้อ่านหยุดพิจารณาข้อเสนอของสถาบันการเงินต่างๆ ดูก่อนนะครับ ระยะหลังที่พบตามใบปลิวหรือหน้าร้านทองต่างๆ หรือ การแบ่งจ่ายบัตรเครดิตที่เซลล์โทรมาเสนอท่านนะครับ ถ้าไม่ใช่ผ่อนดอกเบี้ย 0% ดอกเบี้ยที่ระบุในคำโฆษณา คือ ดอกเบี้ยประเภท  Add-ON Method ท่านผู้อ่านต้องคำนวณ APR ดูก่อนนะครับก่อนตัดสินใจ ซึ่งดอกเบี้ยที่แท้จริงหากต่ำกว่า 20 -28% ต่อปีก็ถือว่า OK อยู่ครับ ผมได้ทำตัวอย่างแบบจำลองดอกเบี้ย APR จากข้อมูลดอกเบี้ยแบบ Add-ON Method มาเพื่อเป็นตัวอย่าง โดยจะขอยกตัวอย่างการผ่อนทองคำครับ ลองมาดูกันเลย ตามปกติการผ่อนทองคำ จะมีค่าธรรมเนียมการผ่อนเพิ่มขึ้นมาด้วยซึ่งเราจะต้องรวมไว้เป็นดอกเบี้ย (I) ด้วยครับ สมมุติ เราตกลงผ่อนทองคำน้ำหนัก 5 บาท ราคาบาทละ 18,500 บาท(รวมค่ากำเหน็จ) ผ่อน 10 เดือน ดอกเบี้ย 0.55%/เดือน ค่าธรรมเนียม 2.5% ต่อเดือน  มาดูผลการคำนวณ APR จากแบบจำลองใน Excel เลยครับ

download Excel ไฟล์ตัวอย่างการคิดดอกเบี้ยแท้จริงได้เลยครับ

จากแบบจำลองท่านจะเห็นว่า APR ขึ้นอยู่กับจำนวนงวดที่ผ่อนและดอกเบี้ย โดยหากจำนวนงวดเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็จะลดลง แต่อย่าลืม ดอกเบี้ยรวมที่เราต้องจ่ายก็มากขึ้นด้วยครับ ที่สำคัญ ร้านทองโดยส่วนใหญ่หากจำนวนงวดมากกว่า 10 เดือน เขาก็จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอีก จะเห็นว่าเราก็ได้แต่รู้แต่ยังถึงอย่างไรผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยก็ยังเป็นร้านค้าอยู่ดีครับ แต่หากท่านคำนวณแล้วพบว่ายังต่ำกว่าดอกเบี้ยแบบ ต้นลดดอกลด หากยืนยันจะผ่อนเพื่อเป็นทรัพย์สินก็สุดแล้วแต่ละท่านครับ ที่สำคัญ ค่างวดที่ต้องชำระในแต่ละงวดมีผลกระทบกับ Cash flow ของท่านในแต่ละเดือนหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากครับในการพิจารณาเพิ่มภาระหนี้สินระยะสั้นครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com