เราทุกคนสามารถเขียนเช็คสั่งจ่ายให้ตัวเองหรือผู้อื่นก็ได้ โดยเช็คจะมี 2 ส่วนคือส่วนต้นขั้วและส่วนสำหรับผู้รับเงิน โดยส่วนต้นขั้วเป็นส่วนที่มีไว้ให้ผู้สั่งจ่ายบันทึกรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน โดยมีรายละเอียดการจ่ายเงินดังนี้
- วันที่จ่าย
- ผู้รับเช็ค
- จำนวนเงินสั่งจ่าย
- ยอดคงเหลือในบัญชี
ในส่วนของผู้รับเงิน ผู้สั่งจ่ายจะต้องเขียนรายละเอียดให้ครบถ้วนตามคำแนะนำในการใช้เช็คที่มีในสมุดเช็คของธนาคารต่างๆ พร้อมทั้งลงลายมือชื่อ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคปลีกย่อยสำหรับการใช้เช็ค เช่น
การขีดคร่อมเช็ค หมายถึงการขีดเส้นคู่ขนานบนมุมซ้ายด้านหน้าของเช็ค โดยในการสั่งจ่ายเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายจะขีดคร่อมเช็ค หรือไม่ขีดคร่อมเช็คก็ได้ โดยกรณีที่ไม่ขีดคร่อมเช็ค ผู้ทรงเช็ค(ผู้ที่มีชื่อรับเงินตามเช็ค) สามารถนำเช็คไปขึ้นเงินสดได้เลย ในกรณีขีดคร่อมเช็คผู้ทรงเช็คจะไม่สามารถนำเช็คนั้นไปขึ้นเงินสดได้ทันที แต่จะต้องนำเช็คนั้นไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนเองก่อนและต้องรอจนกว่าเช็คนั้นจะเรียกเก็บเงินได้จึงจะถอนเงินสดมาใช้ได้ โดยเช็คขีดคร่อมยังแบ่งออกได้อีก 2 ประเภทคือ
- เช็คขีดคร่อมทั่วไป (Cheque crossed generally) หมายถึงขีดเส้นคู่ขนานบนมุมซ้ายด้านหน้าเช็ค เช็คประเภทนี้ที่มีคำสั่งห้ามโอนเปลี่ยนมือจะมีคำดังต่อไปนี้
- A/C Payee Only หมายถึงโอนเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น
- Not Transferable คือ ห้ามโอน
- Not Negotiable คือห้ามเปลี่ยนมือ
- เช็คขีดคร่อมเฉพาะ (Cheque crossed specially) หมายถึงเช็คที่มีการลงชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งภายในระหว่างเส้นคู่ขนานบนหน้าเช็คนั้น ผู้ทรงเช้คจะต้องนำเช็คประเภทขีดคร่อมเฉพาะไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนและบัญชีเงินฝากนั้นต้องเป็นบัญชีเงินฝากของธนาคารที่ระบุไว้ในเส้นคู่ขนานที่ขีดคร่อมหน้าเช็คเท่านั้น
การสลักหลังเช็ค หมายถึงการลงชื่อของผู้ทรงเช็คไว้ด้านหลังของเช็ค เพื่อที่จะโอนเช็คให้กับบุคคลอื่น โดยการสลักหลังเช็คมี 2 ลักษณะคือ
- การสลักหลังลอย เป็นการลงลายมือชื่อของผู้ทรงไว้ด้านหลังเช็คโดยไม่มีข้อความใดๆเพิ่มเติม การสลักหลังแบบนี้จะมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากหากเช็คเกิดการสูญหายผู้ที่เก็บเช็คได้จะสามารถนำเช็คไปเบิกเงินกับธนาคารได้
- การสลักหลังเฉพาะ เป็นการลงลายมือชื่อของผู้ทรงด้านหลังเช็คพร้อมทั้งเชียนข้อความที่ระบุเงื่อนไขการจ่ายเงิน เช่น นำเข้าบัญชี นาย ก คนดี เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่สามารถนำเช็คไปเบิกเงินกับธนาคารได้คือผู้ที่มีชื่อตามข้อความตามเงื่อนไขเท่านั้น
สรุปในบทความนี้ เราก็ได้อธิบายวิธีการใช้เช็คให้ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วนะครับ ก็หวังว่าจะไปประยุกต์ใช้หรือเป็นข้อสังเกตให้กับท่านผู้อ่าน ไม่ว่าท่านผู้อ่านจะอยู่ในฐานะ ผู้สั่งจ่าย หรือผู้ทรงเช็ค เนื่องจากปัจจุบันเช็คเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเงินสดที่ดีและสะดวกมากครับ
1 ความคิดเห็น:
มีประโยชน์มากค่ะ
แสดงความคิดเห็น