วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์

บทความฉบับนี้จะขอกล่าวถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ ซึ่งมีผลต่อบัญชีรายรับรายจ่ายของทุกท่าน(เชื่อผมเถอะ) หลังจากสินเชื่อรถยนต์ของท่านผู้อ่านผ่านการอนุมัติแล้ว เรามาดูกันต่อครับว่านอกจากค่างวดสินเชื่อรถยนต์แล้ว เรายังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์อะไรอีกบ้าง มาดูกันเลยครับ จากประสบการณ์โดยตรงนะครับขอแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 2 ประเภท คือ ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร

1. ค่าใช้จ่ายคงที่ ได้แก่ ค่าเสื่อมราคา ค่างวดผ่อนชำระของสินเชื่อรถยนต์ ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าธรรมเนียมต่อทะเบียนรถ

1.1 ค่าเสื่อมราคา คือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการที่มูลค่าของรถยนต์ลดลง ซึ่งต้องนำมาพิจารณาเป็นต้นทุนของรถยนต์ด้วย การคำนวณค่าเสื่อมราคาของรถยนต์สามารถคำนวณได้ง่ายๆ โดยการนำราคาทุนของรถยนต์มาหักด้วยราคาซากและนำมาหารด้วยอายุการใช้งานโดยประมาณของรถยนต์

ค่าเสื่อมราคาต่อปี = (ราคาทุนรถยนต์ - ราคาซาก) / อายุการใช้งาน

1.2 ค่างวดผ่อนชำระขอสินเชื่อรถยนต์ เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ซึ่งผู้ที่ซื้อรถยนต์ต้องชำระให้กับไฟแนนท์ รายละเอียดได้นำเสนอไปแล้วในบทความที่ผ่านมา

1.3 เบี้ยประกันภัย ประกันภัยที่เจ้าของรถยนต์จะต้องทำแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1.3.1 ประกันภัยบุคคลที่ 3 ตาม พรบ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พศ 2535 ซึ่งจะต้องทำทุกคัน

1.3.2 ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากกว่า พรบ ซึ่งไม่ได้ถูกบังคับต้องทำ โดยทั่วไปมีให้เลือก 3 ระดับ คือ ประกันภัยชั้นที่ 1 ประกันภัยชั้นที่ 2 ประกันภัยชั้นที่ 3 โดยประกันภัยชั้นที่ 1 ให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองสุงที่สุดแต่แน่นอนเบี้ยประกันก็สูงสุดเช่นกัน โดยทั่วไปผู้ซื้อรถผ่านสินเชื่อรถยนต์มักจะถูกกำหนดให้ทำประกันภัยชั้นที่ 1 ในปีแรก

1.4 ค่าธรรมเนียมต่อทะเบียนรถ จะต้องต่อทะเบียนรถกับกรมการขนส่งทางบกทุกๆปี โดยค่าธรรมเนียมจะขึ้นอยู่กับประเภทรถ น้ำหนักรถ และอายุการใช้งาน

1.5 อื่นๆ เช่น ค่าเช่าที่จอดรถ จะพบมากในเมืองหลวงครับ ซึ่งเราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน

2 ค่าใช้จ่ายผันแปร เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้

2.1 ค่าน้ำมัน เป็นค่าใช้จ่ายหลัก จะมากน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางการใช้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน อายุการใช้งาน ผู้ซื้อรถควรจะคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันและบันทึกประกอบการวางแผนค่าใช้จ่าย

2.2 ค่าบำรุงรักษาและซ่อมแซม รถยนต์ใหม่จะถูกกำหนดให้เข้ารับการบำรุงรักษาตามระยะทางและเวลา ให้ระวังระยะทางที่เป็นเลขคู่ เช่น 20,000 , 40,000 กม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูง ล้อยางก็มีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี ครึ่ง การซื้อรถยนต์มือ 2 จะมีภาระในส่วนนี้มากกว่ารถยนต์ใหม่

2.3 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าทางด่วน

จะเห็นว่ายังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์อื่นๆนอกจากค่าสินเชื่อรถยนต์ที่ท่านผู้อ่านต้องคำนึงก่อนจะตัดสินใจขอสินเชื่อรถยนต์ครับ ตัวแปรสำคัญที่ท่านต้องควบคุมให้ได้คือค่าใช้จ่ายผันแปร จำพวก ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน เป็นต้น ก็หวังว่าข้อมูลที่นำเสนอไปจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านครับ

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การใช้ excel คำนวณสินเชื่อรถยนต์ (How to calculate a car loan)

การใช้ excel ในบทความนี้จะขอนำเสนอ การคำนวณสินเชื่อรถยนต์ (car loan) ครับ สินเชื่อรถยนต์หรือกล่าวกันง่ายๆว่า ค่างวดรถยนต์นั่นเองครับ การคำนวณสินเชื่อรถยนต์จะแตกต่างการคำนวณสินเชื่อซื้อบ้านครับ โดยสินเชื่อรถยนต์จะเป็นการคิดคำนวณแบบทบต้นทบดอก (Flat Rate) ขณะที่การคำนวณสินเชื่อบ้านจะคำนวณแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) เรามาดูหลักการคำนวณสินเชื่อรถยนต์กันครับ เมื่อท่านต้องการจะเช่าซื้อรถมือ 2 หรือป้ายแดงก็ตามแต่ ไฟแนนซ์รถยนต์จะแจ้งราคารถยนต์ที่เราต้องการจัดสินเชื่อมาให้ครับโดยจะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว การคำนวณสินเชื่อรถยนต์ จะเริ่มจากนำเงินดาวน์มาหักลบกับราคาตั้งต้นรวม VAT จากนั้นจะนำเงินต้นที่เหลือมาคำนวณหาดอกเบี้ยตามจำนวนงวดที่ผู้เช่าซื้อต้องการ ค่างวดรถยนต์จะสามารถคำนวณได้โดยนำเงินต้นรวมดอกเบี้ยที่ได้หารด้วยจำนวนงวดผ่อนรถยนต์ มาดูตัวอย่างกันเลยครับ สมมุติ ผมต้องการซื้อรถมือ 2 (โดยปกติราคารถมือ 2 จะถูกกว่า) ราคารถยนต์ตั้งต้นรวม VAT 900,000 บาท หากดอกเบี้ยของสินเชื่อรถมือ 2 เท่ากับ 6.0% และจำนวนงวดที่ต้องการผ่อนจ่ายสินเชื่อรถมือ 2 คันนี้เท่ากับ 60 เดือน เรามาดูการใช้ excel ช่วยคำนวณกันเลย ดังแสดงในภาพที่ 1
สินเชื่อรถยนต์
ภาพที่ 1 การใช้ excel คำนวณสินเชื่อรถยนต์
ท่านผู้อ่านสามารถทดลองเปลี่ยนเงินต้นใน Cell C4 จำนวนงวด เงินดาวน์ และดอกเบี้ยของสินเชื่อรถยนต์ ได้ ซึ่งจะช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกไฟแนนซ์รถยนต์ที่เหมาะสมกับกระเป๋าเงินของท่านผู้อ่านได้ครับ บทส่งท้ายของบทความนี้อยากจะแจ้งท่านผู้อ่านว่า บทความนี้เป็นบทความที่ 100 ของ blog แล้วนะครับ เราจะคัดสรรความรู้ต่างๆที่บางคนอาจรู้หรือบางคนอาจไม่รู้มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านครับเพื่อให้สมกับแนวคิดของเราครับ learning-be เรียนรู้ที่จะเป็นครับ แล้วพบกันใหม่ในบทความที่เกินร้อยของ blog ครับ สวัสดีครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
Yahoo bot last visit powered by  Ybotvisit.com